ปทุมมา Siam Tulip

ปทุมมา Siam Tulip

ปทุมมาปทุมมา เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่มีลำต้นสะสมอาหารอยู่ใต้ดินแบบเหง้า มีการเจริญเติบโตทางลำต้นและให้ดอกในช่วงฤดูฝนราวเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน จากนั้นจะทิ้งใบจนหมดแล้วพักตัวอยู่ในดินตลอดช่วงฤดูหนาวราวเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อถึงฤดูฝนก็จะเจริญเติบโตออกดอกอีกครั้ง ดอกปทุมมามีรูปทรงสง่าและมีสีสันสวยงาม เป็นที่ประทับใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็น จนได้รับการส่งเสริมให้เป็นไม้ตัดดอกและเก็บหัวพันธุ์เพื่อส่งไปขายยังต่างประเทศ เป็นที่ประทับใจและชื่นชอบของชาวต่างประเทศจนได้สมญาว่า สยามทิวลิป (Siam Tulip)

ปทุมมา จัดเป็นพืชในวงศ์ Zingiberaceae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับขิงและข่า อยู่ในสกุล Curcuma มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบประเทศอินโดจีน พม่า และไทย สำหรับในประเทศไทยจะพบเห็นปทุมมาได้แทบทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีความหลากหลายของสายพันธุ์มากที่สุด ไม้ในสกุลนี้แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

  • กลุ่มปทุมมา พบได้ทั่วไปในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามเขตชายแดนไทย-ลาว และตามเขตชายแดนไทย-เขมร ส่วนใหญ่มักพบอยู่ตามทุ่งหญ้าที่โล่งแจ้งบริเวณชายป่าเบญจพรรณหรือบริเวณชั้นล่างของป่าเต็งรัง ลักษณะช่อดอกในกลุ่มปทุมมาจะแทงช่อดอกออกมาจากส่วนกลางของลำต้นเทียม ก้านช่อดอกยาวตรง ดอกจริงมีสีม่วงหรือสีม่วงอ่อน ไม้ในกลุ่มนี้มีหลายชนิดที่สามารถนำมาผลิตเป็นไม้ตัดดอก ไม้กระถาง และไม้ประดับแปลง เช่น ปทุมมา บัวสวรรค์ บัวลายปราจีน บัวลายลาว เทพรำลึก ทับทิมสยาม ช่อมรกต และปทุมรัตน์ เป็นต้น
  • กลุ่มกระเจียว กลุ่มนี้มีอยู่หลายชนิดพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ชนิดที่พบขึ้นในที่โล่งแจ้งมักจะมีลักษณะใบหนา มีขนมาก ส่วนพวกที่พบขึ้นในป่าชื้นมักจะมีลักษณะใบบาง ลักษณะของช่อดอกจะเป็นทรงกระบอก อาจแทงช่อดอกขึ้นมาจากเหง้าโดยตรงหรือออกจากทางด้านข้างของลำต้นเทียม ดอกจริงมีสีขาวหรือเหลือง หลายชนิดในกลุ่มนี้สามารถผลิตเป็นไม้ตัดดอก ไม้กระถางได้เช่นกัน ที่สำคัญได้แก่ บัวชั้น กระเจียวส้ม พลอยไพลิน พลอยทักษิณ และพลอยชมพู เป็นต้น

ปทุมมาจะพักตัวในช่วงปลายเดือนกันยายนและพร้อมที่จะเติบโตได้ใหม่ในช่วงปลายเดือนมีนาคม การปลูกควรปลูกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน โดยจะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีอินทรีวัตถุสูง ระบายน้ำได้ดี การปลูกในแปลงต้องใส่ปุ๋ยหมักร่วมกับปุ๋ยคอกประมาณ 3-6 ตันต่อไร่ หน้าแปลงกว้าง 1.2-1.5 เมตร ตากดินนาน ประมาณ 10-14 วัน โดยใช้พลาสติกใสคลุมแปลงให้มิดชิดไม่ให้อากาศถ่ายเทได้เพื่อให้มีความร้อนสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส และโรยปูนขาวก่อนเตรียมแปลงเพื่อลดโอกาสของการเกิดโรค กรณีปลูกลงในถุงหรือในกระถาง วัสดุที่ใช้ปลูกควรมีส่วนผสมของทราย ขุยมะพร้าวและขี้เถ้าแกลบ ในอัตราส่วน 2:1:2 สำหรับการปลูกลงแปลงระยะในการปลูกควรอยู่ที่ประมาณ 30×30 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณ 1 ช้อนชารองก้นหลุมก่อนปลูก การปลูกที่จะทำให้เกิดการแตกกอดีที่สุด คือวางหัวพันธุ์ในแนวนอนเพื่อให้ตาข้างบนเหง้ามีโอกาสเจริญเติบโตเป็นหน่อได้ หลังจากปลูกแล้วให้ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 เดือนละครั้งในอัตรา 1 ช้อนชาต่อต้น และในเดือนที่ 3-5 ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 9-24-24 เดือนละครั้งในอัตรา 1 ช้อนชาต่อต้นเช่นกัน สำหรับการรดน้ำควรรดวันละครั้งในช่วงเช้า ยกเว้นวันที่มีฝนตก และการรดน้ำแต่ละครั้งต้องให้เพียงพอที่จะทำให้ดินชื้นตลอดทั้งวัน หลังจากที่ปทุมมาเจริญเติบโตเต็มที่และให้ดอกในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายนแล้วจะเริ่มพักตัวในช่วงปลายเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม การเก็บหัวพันธุ์จะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม การเก็บเกี่ยวควรทำเมื่อต้นปทุมมาแห้งเต็มที่และยุบตัวลง โดยสังเกตจากใบจะมีสีเหลืองและแห้ง ควรงดการให้น้ำและให้ดินแห้งก่อนการขุดอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อเร่งให้มีการสะสมอาหารอย่างเต็มที่ ถ้าเก็บขณะที่ต้นยังไม่แก่เต็มที่ ใบยังตั้งตรงและดินยังมีความชื้นอยู่จะทำให้หัวพันธุ์ที่ขุดได้เหี่ยวเร็วเก็บรักษาได้ไม่นานและมีเปอร์เซ็นต์ความงอกต่ำ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง