กันเกรา

กันเกรา

ต้นกันเกราเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดนครพนม ต้นกันเกรามีชื่อที่เป็นมงคล โดยชื่อกันเกราหมายถึงกันสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายไม่ให้มาทำอันตรายใดๆ ช่วยป้องกันสิ่งไม่ดี หรือความโชคร้ายไม่ให้เข้ามาทำอันตราย นิยมปลูกต้นกันเกราไว้เป็นไม้ประดับ เพราะนอกจากชื่อที่เป็นมงคลแล้ว ดอกกันเกรายังมีความสวยงาม มีกลิ่นหอมสดชื่น ปลูกง่ายแข็งแรงทนทาน สามารถปลูกไว้ในบริเวณบ้านหรือในที่สาธารณะได้ ในตำรายาไทยต้นกันเกราถือเป็นยาอายุวัฒนะ และมีสรรพคุณรักษาโรคได้หลากหลาย เช่น แก้ไข้มาลาเรีย แก้หอบหืด บำรุงร่างกาย บำรุงธาตุ บำรุงม้าม บำรุงโลหิต แก้ริดสีดวง แก้ท้องมาน แก้ท้องเดิน ขับลม และรักษาโรคผิวหนังพุพอง เป็นต้น

ชื่อสามัญ : Anan, Tembusu

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Fagraea fragrans Robx.

วงศ์ : GENTIANACEAE

ชื่ออื่น : กันเกรา (ภาคกลาง), ตะมะซู ตำมูซู (มลายู-ภาคใต้), ตาเตรา (เขมร-ภาคตะวันออก), ตำเสา ทำเสา (ภาคใต้), มันปลา (ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

การแพร่กระจาย : ต้นกันเกรามีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศแถบเอเชียเขตร้อน-เขตอบอุ่น หมู่เกาะแถบทะเลอันดามัน แถบอินโดจีน มาเลเชีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ในประเทศไทยพบขึ้นทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย ขึ้นกระจัดกระจายทั่วไปในป่าเบญจพรรณชื้นหรือบนพื้นที่ชื้นๆ ใกล้น้ำทางภาค เหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และพบขึ้นทั่วไปในป่าดิบชื้นทางภาคใต้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

ต้นกันเกราเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เป็นไม้ที่ไม่ผลัดใบ มีลำต้นสูงประมาณ 15-30 เมตร เรือนยอดรูปไข่หรือรูปกรวยคว่ำ หนาทึบ เปลือกต้นหยาบสีน้ำดาลปนคำ เมื่อลำต้นแก่จะแตกเป็นร่องลึกตามยาว แก่นมีความแข็งแรง คงทน แตกกิ่งก้านมาก ตรงปลายกิ่งห้อยลู่ลง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ๆ ตรงข้ามกัน ออกหนาแน่นที่ปลายยอด ใบรูปรีหรือแกมใบหอก ปลายใบและโคนใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเป็นคลื่นเล็กน้อย เรียบเป็นมัน สีเขียวเข้ม ท้องใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างเหนียว เส้นกลางใบสีเขียวอ่อน นูนเล็กน้อย เส้นแขนงใบ 5-9 คู่ เห็นไม่ชัดเจน กว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 8-10 เซนติเมตร ก้านใบยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบที่ปลายกิ่ง ดอกเมื่อเริ่มออกใหม่จะมีสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองจนถึงสีเหลืองแก่เมื่อใกล้โรย มีกลิ่นหอมเย็น ช่อดอกยาวประมาณ 4-12 เซนติเมตร ก้านช่อยาวประมาณ 2-6.5 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 0.3-0.6 เซนติเมตร ดอกบานเต็มที่ราว 2-3 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบเลี้ยงรูประฆัง ยาว 0.2-0.3 เซนติเมตร กลีบยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร ปลายกลีบกลม กลีบดอก 5 กลีบ สีขาวและเหลืองอ่อน โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นๆ ปลายกลีบดอกแหลม กลีบดอกรูปปากแตรแคบๆ ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร มีก้านเกสรยาวออกมา เกสรตัวผู้ยาวและติดกับกลีบดอกมี 5 อัน ยื่นพ้นเลยปากหลอดกลีบดอก ก้านเกสรเพศผู้แผ่กว้าง ยาว 1.5-2 เซนติเมตร อับเรณูรูปรียาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร เกสรตัวเมียยาวมี 1 อัน รังไข่ยาว 1.7-2.4 เซนติเมตร รวมก้านเกสรเพศเมีย ยอดเกสรรูปโล่หรือแยกเป็น 2 พู ผลทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร มีติ่งแหลมสั้นๆ อยู่ปลายผล ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกจะเป็นสีเหลือง ส้ม หรือแดง เป็นแบบผลสดมีหลายเมล็ด เมล็ดมีขนาดเล็กสีน้ำตาลไหม้ เมล็ดมีขนาดประมาณ 0.1-0.2 เซนติเมตร

ฤดูออกดอก : ต้นกันเกราออกดอกช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน

การขยายพันธุ์ : การขยายพันธุ์ต้นกันเกราที่เหมาะสมและได้ผลคือการขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

การปลูก : ต้นกันเกราขึ้นได้ดีในทุกสภาพภูมิประเทศ ชอบแสงแดดจัด เติบโตได้ดีในที่ที่มีความชุ่มชื้นมาก ชอบขึ้นในดินที่สามารถเก็บความชุ่มชื้นได้ดี ดินต้องเป็นดินเหนียวหรือดินเหนียวปนทราย

การใช้ประโยชน์ :

ต้นกันเกรามีชื่อที่เป็นมงคล โดยชื่อกันเกราหมายถึงกันสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายไม่ให้มาทำอันตรายใดๆ ช่วยป้องกันสิ่งไม่ดี หรือความโชคร้ายไม่ให้เข้ามาทำอันตราย นิยมปลูกต้นกันเกราไว้เป็นไม้ประดับ เพราะนอกจากชื่อที่เป็นมงคลแล้ว ดอกกันเกรายังมีความสวยงาม มีกลิ่นหอมสดชื่น ปลูกง่ายแข็งแรงทนทาน สามารถปลูกไว้ในบริเวณบ้านหรือในที่สาธารณะได้ ในตำรายาไทยต้นกันเกรามีสรรพคุณรักษาโรคได้หลากหลาย ใบ แก้ไข้มาลาเรีย แก้หอบหืด บำรุงธาตุ และรักษาโรคผิวหนังพุพอง แก่น รสมันฝาดขม บำรุงร่างกาย บำรุงธาตุ บำรุงไขมัน เป็นยาอายุวัฒนะ แก้ไข้จับสั่น หืด ไอ แก้ริดสีดวง แก้ท้องมาน แก้ท้องเดิน มูกเลือด แก้พิษฝีกาฬ แก้แน่นหน้าอก บำรุงม้าม บำรุงโลหิต ขับลม แก้โลหิตพิการ แก้ปวดแสบปวดร้อน ตามผิวหนังและร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง