ต้นกุ่มบก พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ต้นกุ่มบก พรรณไม้ในพุทธประวัติ

กุ่มบก หรือที่ชาวฮินดูเรียกว่า มารินา นี้ ตามพุทธประวัติกล่าวว่า ช่วงที่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จไปอาศัยกับชฎิลอรุเวลกัสสป พระพุทธเจ้านำผ้าบังสุกุลไปทรงซัก ทรงดำริว่าจะทรงซัก ขยำ พาด และผึ่งผ้าบังสุกุลไว้ที่ใด เมื่อนั้นท้าวสักกะจอมทวยเทพจึงขุดสระโบกขรณีเพื่อให้ทรงซักผ้า ยกศิลาแผ่นใหญ่มาวาง เพื่อให้ทรงขยำผ้า เทพยดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นกุ่มบกได้น้อมกิ่งกุ่มลงมาเพื่อให้ทรงพาดผ้า และท้าวสักกะจอมทวยเทพได้ยกแผ่นศิลาแผ่นใหญ่เพื่อให้ทรงผึ่งผ้า

ต้นกุ่มบก พรรณไม้ในพุทธประวัติ
ชื่อพื้นเมือง: ผักกุ่ม (ศรีสะเกษ)
ชื่อบาลี: ปุณฺฑริก (ปุน-ดะ-รี-กะ), วรโณ (วะ-ระ-โน), กเรริ (กะ-เร-ริ), วรณ (วะ-ระ-นะ)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Crateva adansonii DC. subsp. trifoliata Jacobs
ชื่อสามัญ: Sacred Barnar, Caper Tree
ชื่อวงศ์: CAPPARIDACEAE
ถิ่นกำเนิด: ประเทศในแถบทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา ทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่น
สภาพนิเวศน์: ชอบขึ้นใกล้ๆ ชายน้ำ ห้วยหนอง คลองบึง ชอบแสงมาก
ลักษณะทั่วไป: ต้นกุ่มบก เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ผลัดใบ เปลือกเรียบ สีเทา มีรูระบายอากาศสีขาวอยู่ทั่วไป เนื้อไม้ละเอียดมีสีขาวปนเหลือง ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ มี 3 แฉก แต่ละแฉกรูปไข่เกมรูปหอก ปลายแฉกทู่มน และพื้นใบจะย้อยยื่นมากไปแถบหนึ่งจากเส้นกลางใบ ก้านใบยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อที่ง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบดอกมี 4 กลีบ บอบบางและหลุดง่าย กลีบดอกสีขาวเมื่อแรกบานแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน เวลาบานเต็มที่กว้างประมาณ 5 เซนติเมตร เกสรตัวผู้สีม่วงมีจำนวนมาก ติดเป็นกระจุกอยู่ตรงกลาง ผลกลมรีรูปไข่ ก้านผลยาวห้อยลง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร เมื่อสุกมีสีน้ำตาล
การขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดเพาะหรือใช้ไหลที่แตกขึ้นจากรากของต้นใหญ่
ประโยชน์: ใบต้มน้ำดื่มบำรุงหัวใจ ขับลม ใบสดตำใช้ทารักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน เปลือกต้นรวมกับเปลือกต้นของกุ่มน้ำและเปลือกทองหลางใบมน ต้มน้ำดื่ม ช่วยขับลม แก่นใช้รักษาริดสีดวงทวาร รากบำรุงธาตุ ใบและเปลือกรากใช้ทำยาทาถูนวด ช่วยให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นมากขึ้น ใบอ่อนใช้รับประทานได้ โดยนำมาดองแล้วใช้รับประทานแทนผัก


พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงและรูปภาพจากเว็บไซต์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง