ต้นปาริฉัตร พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ต้นปาริฉัตร พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ปาริฉัตรหรือทองหลางลาย ชาวอินดูเรียกว่า มังการา ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่า ช่วงที่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จไปอาศัยกับชฎิลอรุเวลกัสสป พระฤษีได้ทูลนิมนต์ภัตตภิจ พระองค์ทรงตรัสให้ไปก่อน แล้วทรงเสด็จไปเก็บผลหว้าจากชมพูทวีปวันหนึ่ง อีกวันหนึ่งก็ทรงไปเก็บผลมะม่วง ผลมะขามป้อม ผลส้ม แล้วเสด็จไปสู่ภพดาวดึงส์ เก็บดอกปาริฉัตตกะหรือดอกปาริฉัตร แต่ก็ทรงกลับมาถึงโรงบูชาเพลิงก่อนอุรุเวลกัสสป

ต้นปาริฉัตร พรรณไม้ในพุทธประวัติ
ชื่อพื้นเมือง: ทองหลาง ทองหลางด่าง ทองหลางลาย (กรุงเทพฯ), ปาริชาต ทองบ้าน ทองเผือก (ภาคเหนือ)
ชื่อบาลี: ปาริจฺฉตฺตก (ปา-ริด-ฉัด-ตะ-กะ), ปาริฉตฺตก (ปา-ริ-ฉัด-ตะ-กะ), ปาริจฺฉตฺตโก (ปา-ริด-ฉัด-ตะ-โก)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Erythrina variegata Linn.
ชื่อสามัญ: Indian Coral Tree, Variegated Coral Tree, Variegated Tiger’s Claw, Tiger’s Craw, Parijata
ชื่อวงศ์: PAPILIONACEAE
ถิ่นกำเนิด: พบทั่วไปในแถบเอเชียเขตอบอุ่นและเขตร้อน
สภาพนิเวศน์: เป็นพรรณไม้ที่ปลูกขึ้นง่าย เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด
ลักษณะทั่วไป: ต้นปาริฉัตรเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ผลัดใบ ตามกิ่งหรือต้นอ่อนมีหนามแข็งๆ แต่หนามนี้จะค่อยๆ หลุดไปเมื่อต้นหรือกิ่งมีอายุมากขึ้น ปลายหนามสีม่วงคล้ำ เปลือกลำต้นบางเป็นสีเทา สีเทาอมน้ำตาล หรือเป็นสีเหลืองอ่อนๆ เนื้อไม้เปราะ เรือนยอดเป็นพุ่มกลม โปร่ง ใบเป็นใบประกอบเรียงสลับ มีใบย่อย 3 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปสามเหลี่ยมมน ปลายใบแหลมยาวคล้ายใบโพธิ์ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ใบกลางจะมีขนาดใหญ่กว่าอีกสองใบด้านข้าง หน้าใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนหลังใบมีสีเขียวอ่อนมีแถบสีเหลืองตามแนวเส้นใบ เส้นใบมี 3 เส้น มีขนปกคลุมเล็กน้อย ก้านใบสั้น ก้านช่อใบยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อติดกันเป็นกลุ่มๆ บริเวณข้อต้น โคนก้านใบ หรือที่ยอดต้น ช่อยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ดอกสีแดงสด ลักษณะคล้ายดอกถั่ว กลีบดอกยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ออกดอกประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ผลมีลักษณะเป็นฝักแบน ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร เมื่อฝักแก่เต็มที่ปลายฝักจะแตกอ้าออก ภายในมีเมล็ดประมาณ 1-8 เมล็ด มีขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร รูปกลม และเป็นสีแดงเข้ม
การขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือปักชำกิ่ง
ประโยชน์: ใบอ่อนเป็นผัก ทางยาจีนใช้เปลือกต้นเป็นยาแก้ไอและแก้ไข้ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามสวนเนื่องจากมีใบที่สวยงาม


พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงและรูปภาพจากเว็บไซต์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง