ต้นมะม่วง พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ต้นมะม่วง พรรณไม้ในพุทธประวัติ

มะม่วงหรือที่ชาวฮินดูเรียกว่า อะมะ หรือ อะมะริ นี้ ตามพุทธประวัติกล่าวว่า ช่วงที่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จไปอาศัยกับชฎิลอรุเวลกัสสป พระฤษีได้ทูลนิมนต์ภัตตภิจ พระองค์ทรงตรัสให้ไปก่อน แล้วทรงเสด็จไปเก็บผลหว้าจากชมพูทวีปวันหนึ่ง อีกวันหนึ่งก็ทรงไปเก็บผลมะม่วง ผลมะขามป้อม ผลส้ม แล้วเสด็จไปสู่ภพดาวดึงส์ เก็บดอกปาริฉัตตกะหรือดอกปาริฉัตร แต่ก็ทรงกลับมาถึงโรงบูชาเพลิงก่อนอุรุเวลกัสสป

อีกตอนหนึ่ง ในพรรษาที่ ๔๕ พระพุทธเจ้ามีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา ในพรรษานี้พระองค์เสด็จประทับจำพรรษา ณ เวฬุวคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี พระองค์ทรงประชวรอย่างหนัก และทรงปลงพระชนมายุสังขารจะปรินิพพานในเวลา ๓ เดือนนับแต่วันนั้น จากนั้นได้เสด็จไปยังเมืองปาวานคร เสด็จเข้าอาศัยอัมพวัน สวนมะม่วงของนายจุนทะ ทรงแสดงธรรมโปรดนายจุนทะให้ได้บรรลุโสดาปัตติผล

ต้นมะม่วง พรรณไม้ในพุทธประวัติ
ชื่อพื้นเมือง: ขุ (กาญจนบุรี), โคกแล้ะ (ละว้า-กาญจนบุรี), เจาะช๊อก, ช้อก (ชอง-จันทบุรี), หมักโม่ง (เงี้ยว-ภาคเหนือ), โตร๊ก (นครราชสีมา) เปา (มาเลย์-ภาคใต้), แป (ละว้า-เชียงใหม่)
ชื่อบาลี: อมฺพ (อัม-พะ), อมฺโพ (อัม-โพ), เสตมฺโพ (เส-ตัม-โพ)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Mangifera indica Linn.
ชื่อสามัญ: Mango Tree
ชื่อวงศ์: ANACARDIACEAE
ถิ่นกำเนิด: มะม่วงเป็นไม้ดั้งเดิมแถบเอเชียเขตร้อนทั่วไป เช่น อินเดีย ไทย พม่า ฟิลิปปินส์
สภาพนิเวศน์: พบตามป่าทั่วๆไป และปลูกเป็นไม้ผลตามบ้าน
ลักษณะทั่วไป: มะม่วงเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง เปลือกสีเทาหรือสีน้ำตาล ค่อนข้างเรียบ ถ้าสับเปลือกจะมียางใสๆ ซึมออกมา ยางนี้เมื่อถูกอากาศนานๆ จะเปลี่ยนเป็นสีดำ และยางนี้เป็นอันตรายต่อผิวหนังของคนด้วย เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ใบรูปขอบขนานแกมรูปหอก เนื้อใบหนาเขียวเป็นมัน ดอกออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็กสีเขียวอ่อนๆ หรือเหลืองอ่อนๆ รวมกันเป็นช่อใหญ่ ชูช่อตั้งขึ้น และมีขนประปราย ผลกลมหรือรูปรีๆ หรือรูปหัวใจ มีเนื้อเยื่อมาก ผลดิบมีสีเขียวใช้รับประทานได้แต่มีรสเปรี้ยว ผลสุกจะเละและผิวมีสีเหลืองหรือสีม่วงแดงขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ใช้รับประทานได้มีรสหวาน
การขยายพันธุ์: ต้นมะม่วงขยายพันธุ์ได้หลายวิธี ไม่ว่าจะใช้วิธีเพาะเมล็ดหรือจะติดตา ทาบกิ่ง หรือตอนกิ่งก็ได้ สะดวกและได้ผลทุกวิธี แต่การใช้วิธีเพาะเมล็ดมักกลายพันธุ์ได้
ประโยชน์: ผลดิบและผลสุกรับประทานเป็นผลไม้ ผลดิบมีสรรพคุณช่วยระบายอ่อนๆ เนื้อในเมล็ดรักษาโรคท้องเดิน ใบอ่อนรับประทานเป็นผักจิ้ม เนื้อไม้มีลายสวยเหมาะแก่การทำเครื่องตกแต่งบ้าน ทำพื้น และเครื่องแกะสลัก


พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงและรูปภาพจากเว็บไซต์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง