ต้นสะเดาอินเดีย พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ต้นสะเดาอินเดีย พรรณไม้ในพุทธประวัติ

สะเดาอินเดีย หรือที่ชาวฮินดูเรียกว่า นิมะ นั้น ตามพุทธประวัติกล่าวว่า ในพรรษาที่ ๑๑ พระพุทธเจ้า ได้จำพรรษาภายใต้จิมมันทพฤกษ์คือ ไม้สะเดา ใกล้นครเวรัญชา ในครั้งนั้นเวรัญชพราหมณ์ ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ณ ควงไม้สะเดานั้น ครั้นผ่านการปราศรัยกับพระพุทธเจ้าแล้ว เวรัญชพราหมณ์ได้ประกาศตนเป็นอุบาสกผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะตลอดชีวิต

ต้นสะเดาอินเดีย พรรณไม้ในพุทธประวัติ
ชื่อพื้นเมือง: คินิน, ควินิน
ชื่อบาลี: นิมฺโพ (นิม-โพ), นิมฺพ (นิม-พะ), อริฏโฐ (อะ-ริด-โถ), ปุจิมนฺโท (ปุ-จิ-มัน-โท)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Azadirachta indica A. Juss.
ชื่อสามัญ: Nim, Neem Tree, Indian Margosa Tree, Holy Tree, Margosa, Pride of China
ชื่อวงศ์: MELIACEAE
ถิ่นกำเนิด: พบมากในประเทศแถบเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์แถบจังหวัดชายทะเลภาคตะวันออก
สภาพนิเวศน์: เป็นไม้กลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและมีความชื้นบ้างเล็กน้อย
ลักษณะทั่วไป: ต้นสะเดาอินเดียเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ และเมื่อใบอ่อนผลิจะแทงช่อดอกมาพร้อมกัน ลำต้นเปลาตรง เปลือกสีเทา เปลือกแตกเป็นร่องตามความยาวของลำต้น แก่นแข็งสีแดง แตกกิ่งก้านสาขาที่เรือนยอดของลำต้นจำนวนมากจนเป็นพุ่มกลม ใบเป็นใบประกอบ มีใบย่อย 7-9 คู่ ออกตรงข้ามเยื้องกันเล็กน้อย ขอบใบหยัก ดอกออกเป็นช่อตามปลายกิ่งหรือเหนือรอยแผลใบ ชูช่อขึ้น ดอกสีขาว มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ผลกลมรียาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ผิวบาง ภายในมีเนื้อเยื่อฉ่ำน้ำ ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อสุกมีสีเหลือง มีเมล็ด 1 เมล็ด
การขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์เพาะเมล็ด และการตอนกิ่ง
ประโยชน์: เปลือกต้นมีรสขม ใช้เป็นยาช่วยทำให้เจริญอาหาร แก้บิด ผลมีรสขม ใช้เป็นยาระบายท้อง ยาถ่ายพยาธิ ดอกมีรสขม ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ ตำรายาไทยจะใช้เปลือกต้น ใบ และก้านใบ นำมาปรุงเป็นยาแก้ไข้และไข้จับสั่นหรือไข้มาลาเรีย ไข้ประจำฤดู


พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงและรูปภาพจากเว็บไซต์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง