ฝาง
ต้นฝางเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย น้ำต้มจากแก่นฝางแดงหรือฝางเสนให้สีแดงเรียกว่า Sappanin นำมาใช้เป็นส่วนผสมหลักของน้ำยาอุทัย ใช้ผสมในน้ำดื่ม ใช้สำหรับทำสีผสมอาหาร ส่วนฝางที่มีแก่นสีเหลืองส้มหรือฝางส้มนำมาต้มสกัดสาร Haematexylin ใช้ย้อมสีนิวเคลียสของเซลล์ ในปัจจุบันมีการนำมาแปรรูปเป็นน้ำดื่มสมุนไพรฝาง ทั้งสารสีแดงและสีเหลืองที่สกัดจากแก่นฝางนิยมนำมาใช้เป็นสารให้สี เพิ่มความสวยงามให้แก่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ใช้เป็นสีย้อมผ้าในอุตสาหกรรมสิ่งทอ สำหรับเนื้อไม้มีสีแดงถึงสีน้ำตาลเข้ม นิยมนำมาใช้ทำเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ นอกจากนี้ส่วนต่างๆ ของต้นฝางยังมีสรรพคุณทางสมุนไพรใช้รักษาอาการโรคต่างๆ ได้อีกด้วย
ชื่อสามัญ : Sappan Tree
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Caesalpinia sappan Linn.
วงศ์ : LEGUMINOSAE
ชื่ออื่น : หนามโค้ง ฝางแดง ขวาง (ภาคเหนือ), ฝางเสน ฝางส้ม (ทั่วไป), ง้าย (กะเหรี่ยง), โซปั๊ก ซูฟางมู่ ซูมู่ (จีน)
การแพร่กระจาย : ฝางเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของเอเชีย พบกระจายตามประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา ศรีลังกา บังคลาเทศ เวียดนาม รวมถึงทางตอนใต้ของจีน สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้บริเวณป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และภูเขาหินปูน ทางภาคเหนือ ภาคอีสาน และบางส่วนของภาคกลาง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ฝางเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ไม้พุ่ม หรือไม้พุ่มกึ่งไม้เถา ผลัดใบ สูงประมาณ 5-13 เมตร มีหนามแข็งและโค้งสั้นๆ ประปรายตามลำต้นและกิ่งก้าน ถ้าแก่นและเนื้อไม้มีสีแดงเข้ม รสขมหวาน เรียกว่า “ฝางเสน” ถ้าแก่นมีสีเหลืองส้ม รสฝาดขื่น จะเรียกว่า “ฝางส้ม” ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นเรียงสลับ ใบย่อยชั้นที่หนึ่งกว้างประมาณ 12-20 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร ก้านใบยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร แกนกลางยาวประมาณ 19-20 เซนติเมตร ประกอบด้วยใบย่อย 9-20 คู่ เรียงตรงข้าม ใบย่อยชั้นที่สองกว้างประมาณ 3 เซนติเมตร ยาว 11-12 เซนติเมตร ก้านใบยาว 0.4-0.5 เซนติเมตร มีหนามสั้นเกิดเป็นคู่ที่โคนก้าน แกนกลางยาว 9-12 เซนติเมตร มีใบย่อยสุดท้าย 14-18 ใบ เรียงตรงข้าม ใบย่อยรูปขอบขนานแกมรูปหอก กว้าง 5-10 มิลลิเมตร ยาว 8-20 มิลลิเมตร ปลายใบมนกลมถึงเว้าตื้น โคนใบตัดและเบี้ยว แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ขอบใบเรียบ มีขนประปรายทั้งสองด้านของใบ ก้านใบสั้นมากหรือไม่มีก้านใบ ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจะ ออกที่ปลายกิ่งและซอกใบใกล้ปลายกิ่ง มีกลิ่นหอม ช่อดอกยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ก้านช่อยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร ปกคลุมด้วยขนสั้นประปราย ดอกย่อยมีก้านเรียงสลับบนแกนกลางลดหลั่นตามลำดับจากบนลงล่าง ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1.2-1.8 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่มปกคลุม ดอกย่อยสีเหลือง ประกอบด้วยกลีบเลี้ยง 5 กลีบ และกลีบดอก 5 กลีบ กลีบเลี้ยงเกลี้ยง ขอบมีขนครุย ขอบกลีบเกยซ้อนทับกัน กลีบเลี้ยงกลีบล่างสุดมีขนาดใหญ่สุด และเว้ามากกว่ากลีบอื่น กลีบดอก 5 กลีบ รูปไข่กลับ กว้าง 6-10 มิลลิเมตร ยาว 9-12 มิลลิเมตร ผิวและขอบกลีบย่น กลีบกลางขนาดเล็กกว่า มีก้าน กลีบด้านในมีขนจากโคนไปถึงกลางกลีบ เกสรตัวผู้จำนวน 10 อัน แยกเป็นอิสระไม่คิดกัน เกสรตัวเมียจำนวน 1 อัน ก้านชูอับเรณูมีขน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนสั้นนุ่ม มี 1 ช่อง มี ออวุล 3-6 เม็ด ผลเป็นฝักรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ แบนแข็ง ผิวเกลี้ยง มีสีน้ำตาลเข้ม กว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-8.5 เซนติเมตร ส่วนที่ค่อนมาทางโคนฝักสอบเอียงเล็กน้อย ด้านปลายฝักผายกว้างและมีจะงอยแหลม เมื่อแก่เต็มที่ฝักไม่แตก ภายในมีเมล็ด 2-4 เมล็ด รูปรี กว้างประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-1.8 เซนติเมตร
ฤดูออกดอก : ออกดอกระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม และเป็นผลระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤษภาคม
การขยายพันธุ์ : ฝางสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด
การปลูก : ฝางจัดเป็นไม้กลางแจ้งสามารถเจริญเติบโตได้ในทุกสภาพดิน แต่จะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุย และยังเป็นพืชทนแล้งได้ดี
การใช้ประโยชน์ :
ต้นฝางเป็นพืชที่มีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย น้ำต้มจากแก่นฝางแดงหรือฝางเสนให้สีแดง นำมาใช้เป็นส่วนผสมหลักของน้ำยาอุทัย ใช้ผสมในน้ำดื่มแก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ ใช้สำหรับทำสีผสมอาหาร ส่วนฝางที่มีแก่นสีเหลืองส้มหรือฝางส้มนำมาใช้ย้อมสีนิวเคลียสของเซลล์ นำมาแปรรูปเป็นน้ำดื่มสมุนไพรฝาง ทั้งสารสีแดงและสีเหลืองที่สกัดจากแก่นฝางนิยมนำมาใช้เป็นสารให้สี เพิ่มความสวยงามให้แก่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ใช้เป็นสีย้อมผ้าในอุตสาหกรรมสิ่งทอ สำหรับเนื้อไม้มีสีแดงถึงสีน้ำตาลเข้ม นิยมนำมาใช้ทำเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ
ส่วนต่างๆ ของต้นฝางยังมีสรรพคุณทางสมุนไพรรักษาอาการต่างๆ เช่น เนื้อไม้เป็นส่วนผสมหลักในยาบำรุงหลังคลอดบุตร เป็นยาขับระดูอย่างแรง แก้ท้องร่วง แก้ธาตุพิการ แก้ร้อนใน แก้โลหิตออกทางทวารหนักและทวารเบา แก้โลหิตตกหนัก แก้เสมหะ แก่นฝางมีรสฝาด เค็ม ชุ่ม เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อหัวใจและตับ เป็นยาบำรุงโลหิตสตรี ใช้เป็นยาแก้ปวด แก้บวม แก้เลือดอุดตัน ทำให้เลือดไหลเวียนสะดวก รักษาประจำเดือนมาไม่ปกติ ขับระดู แก้อาการหัวใจขาดเลือด จุกเสียดแน่นและเจ็บหน้าอก กระจายเลือดที่อุดตัน ลดอาการปวดมดลูกในสตรีหลังคลอด เป็นยาสมานลำไส้ แก้บิด ฟกช้ำดำเขียว ปวดบวม ขับหนองในฝีอักเสบ แก้ไข้ตัวร้อน แก้ปวดเมื่อยร่างกาย แก้เสมหะ แก้โลหิต แก้ไข้กำเดา แก้ปอดพิการ ขับหนอง ทำให้โลหิตเย็น แก้ท้องร่วง แก้ธาตุพิการ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้โลหิตออกทางทวารหนักและทวารเบา แก้กำเดา แก่นฝางฝนกับน้ำเป็นยาทาภายนอกในโรคผิวหนังบางชนิด เพื่อฆ่าเชื้อโรค