มะค่าโมง

มะค่าโมง

ต้นมะค่าโมงเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดสุโขทัย นิยมนำมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างหรือแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เนื่องจากเนื้อไม้มีความแข็งแรง ทนทาน มีสีสันและลวดลายที่สวยงาม จึงจัดเป็นไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทย ต้นมะค่าโมงยังมีสรรพคุณทางสมุนไพร สามารถรักษาโรคได้หลากหลาย เช่น เป็นยาถ่ายพยาธิ รักษาโรคริดสีดวง แก้ท้องเสีย รักษาโรคผิวหนัง รักษาแผลพุพอง ช่วยบรรเทาอาการอาเจียนได้ เป็นต้น

ชื่อสามัญ : Black rosewood, Pod mahogany

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Afzelia xylocarpa (Kurz) Craib

วงศ์ : LEGUMINOSAE

ชื่ออื่น : เขง เบง (เขมร-สุรินทร์), บิง (ชอง-จันทบุรี), ปิ้น (ชาวบน-นครราชสีมา), มะค่าโมง มะค่าใหญ่ (ภาคกลาง), มะค่าหลวง มะค่าหัวคำ (ภาคเหนือ), ฟันฤาษี แต้โหล่น

การแพร่กระจาย : ต้นมะค่าโมงมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ระดับความสูงประมาณ 150-650 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วไปในทุกภาคยกเว้นภาคใต้ โดยเฉพาะภาคอีสาน ภาคตะวันออกและภาคเหนือ ซึ่งมักเกิดขึ้นตามริมแม่น้ำหรือข้างลำห้วย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

ต้นมะค่าโมงเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบช่วงสั้นๆ สูงได้ถึง 30 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลมกว้าง เปลือกต้นสีเทาอ่อนหรือสีชมพูอมน้ำตาล ผิวต้นค่อนข้างขรุขระ กิ่งอ่อนมีขนประปราย ต้นแก่มักมีปุ่มปม เนื้อไม้มีลวดลายสวยงามสีน้ำตาลอมเหลือง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ปลายใบคู่ ออกเรียงสลับ แกนกลางใบประกอบยาวประมาณ 18-30 เซนติเมตร ใบย่อยมี 3-5 คู่ รูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบแหลมมีติ่งสั้นๆ โคนใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา เรียบเกลี้ยง กว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-9 เซนติเมตร ก้านใบยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบ ยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร ใบประดับรูปไข่ ยาว 0.6-0.9 เซนติเมตร ใบประดับย่อยคล้ายใบประดับ ติดเหนือจุดกึ่งกลางก้านดอกเล็กน้อย ติดทน ก้านดอกยาว 0.7-1 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาว 1 เซนติเมตร ทุกส่วนมีขนคลุมบางๆ ดอกคล้ายดอกถั่ว กลีบดอกสีชมพู 1 กลีบ รูปร่างคล้ายช้อน แผ่เกือบกลม ยาว 7-9 มิลลิเมตร ส่วนฐานคอดเป็นก้าน มีก้านยาว 0.5-1.2 เซนติเมตร ปลายกลีบย่นเว้าตื้นๆ เกสรตัวผู้มี 10 อัน แยกกัน เกสรตัวผู้ที่สมบูรณ์มี 7 อัน ก้านเกสรยาวประมาณ 3 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่มที่โคน อับเรณูยาว 0.3-0.4 เซนติเมตร เกสรตัวผู้ที่เป็นหมันมี 3 อัน รูปเส้นด้ายสั้นๆ เกสรตัวเมียมีขนที่รังไข่ รังไข่รูปขอบขนานแคบ ยาวประมาณ 0.7 เซนติเมตร ก้านรังไข่ยาวประมาณ 0.7 เซนติเมตร ก้านเกสรตัวเมีย ยาว 2-2.5 เซนติเมตร เกลี้ยง ขยายเล็กน้อยด้านปลาย ยอดเกสรขนาดเล็ก กลีบเลี้ยงสีเขียวมี 4 กลีบ สีเขียวสด รูปขอบขนาน แต่ละกลีบเรียงซ้อนทับกันแบบตรงข้าม ยาว 1-1.2 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่ม ขอบกลีบบาง ฐานรองดอกยาว 0.8-1 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่มสีเทา ผลเป็นฝักแบนรูปขอบขนาน กว้าง 7-9 เซนติเมตร ยาว 12-20 เซนติเมตร หนา 0.6-1 เซนติเมตร ผิวเปลือกเรียบไม่มีหนาม เปลือกแข็งหนาเป็นเนื้อไม้ ปลายเป็นจะงอยสั้นๆ ฝักแก่สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ พอแห้งแตกออกเป็น 2 ซีก มีเมล็ดแข็ง มี 2-4 เมล็ด รูปรี ยาว 2.5-3 เซนติเมตร สีดำ ผิวมัน มีเนื้อหุ้มที่โคนเมล็ดสีเหลืองสด หุ้มเป็นรูปถ้วย ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร

ฤดูออกดอก : ต้นมะค่าโมงออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ติดผลราวเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม

การขยายพันธุ์ : วิธีขยายพันธุ์ต้นมะค่าโมงที่นิยมและสะดวกที่สุดคือขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด แต่เนื่องจากเมล็ดของมะค่าโมงมีเปลือกที่แข็งมาก ก่อนนำเมล็ดไปเพาะจึงควรขลิบเปลือกของเมล็ดตรงส่วนหัวออกก่อน ให้เห็นเนื้อด้านในเพียงเล็กน้อย แช่น้ำไว้หนึ่งคืนก่อนนำไปเพาะ ช่วงระยะแรกควรให้น้ำวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น เมล็ดจะงอกและเริ่มมีใบหลังจากเพาะประมาณ 1 สัปดาห์ เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 8-12 เดือนขึ้นไป จึงสามารถย้ายลงปลูกในแปลงดินได้

การปลูก : ต้นมะค่าโมงเป็นต้นไม้ที่ขึ้นได้ในดินทุกชนิด แต่ขึ้นได้ดีในดินร่วนที่อุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดี ควรปลูกในที่ได้รับแสงแดดมากกว่าครึ่งวัน

การใช้ประโยชน์ :

ต้นมะค่าโมงมีเนื้อไม้ที่แข็งแรง ทนทาน เนื้อไม้มีสีน้ำตาลอมแดงและมีลวดลายสวยงาม นิยมนำมาแปรรูปเป็นแผ่นพื้น หรือใช้ในการก่อสร้างบ้าน ทำเสาบ้าน ทำไม้ชายคาสำหรับก่อสร้าง รวมถึงใช้แปรรูปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ สรรพคุณทางด้านยาสมุนไพรของต้นมะค่าโมง สามารถรักษาโรคได้หลากหลายอาการ เช่น เปลือกของลำต้น นำมาต้มดื่มเป็นยาถ่ายพยาธิยา รักษาโรคริดสีดวง ยาแก้อาการท้องเสีย และรักษาโรคบิด นอกจากนั้นยังสามารถรักษาโรคผิวหนัง หรือใช้ทาเป็นยารักษาแผลพุพองต่างๆ ได้ เมล็ดของมะค่าโมงสามารถนำมาต้มดื่มหรือนำเนื้อเมล็ดดิบมาหั่นเป็นฝอยต้มดื่ม ช่วยบรรเทาอาการอาเจียนได้ เป็นต้น

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง