ยมหิน

ยมหิน

ต้นยมหินเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดแพร่ เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ พบได้ตามป่าเบญจพรรณแล้งและชื้นทั่วไป ป่าดิบแล้ง และป่าผลัดใบผสม มีเขตการกระจายพันธุ์จากอินเดียถึงประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้นยมหินเป็นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ นิยมนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ใช้ในงานก่อสร้างบ้านเรือน เครื่องมือใช้สอยต่างๆ ทั้งยังมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรอีกด้วย

ชื่อสามัญ : Almond-wood, Chickrassy Chittagong-wood

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chukrasia tabularis A.Juss.

วงศ์ : MELIACEAE

ชื่ออื่น : โค้โย่ง (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), ช้ากะเดา (ภาคใต้), ยมขาว (ภาคเหนือ), มะเฟืองต้น มะเฟืองช้าง ยมหิน สะเดาหิน สะเดาช้าง (ภาคกลาง), ริ้งบ้าง รี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เสียดค่าย (สุราษฎร์ธานี), ฝักดาบ (จันทบุรี), เสียดกา (ปราจีนบุรี), มะยมหลวง (ไทใหญ่)

การแพร่กระจาย : ต้นยมหินพบได้ตามป่าเบญจพรรณแล้งและชื้นทั่วไป ป่าดิบแล้ง และป่าผลัดใบผสม ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 300-800 เมตร มีเขตการกระจายพันธุ์จากอินเดียถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับในประเทศไทยพบมีการกระจัดกระจายไปตามภาคต่างๆ ปัจจุบันต้นยมหินในธรรมชาติมีจำนวนลดลงไปอย่างมากจากปัญหาการบุกรุกป่าและการเสื่อมของดิน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

ต้นยมหินเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เป็นไม้ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่เร็ว เรือนยอดเป็นทรงพุ่มรูปกรวยต่ำ ความสูงประมาณ 15-25 เมตร ลำต้นเปลาตรง มีพูพอนที่โคนต้น เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลคล้ำหรือเทาปนดำ แตกเป็นร่องลึกตามยาวของลำต้นเมื่อมีอายุมากขึ้น เปลือกชั้นในเป็นสีแดงออกน้ำตาลหรือสีชมพู ส่วนกระพี้เป็นสีเหลืองคล้ายฟางข้าว แก่นไม้เป็นสีเหลืองเข้มถึงสีน้ำตาล กิ่งอ่อน ใบอ่อน และช่อดอกมีขนนุ่ม

ใบยมหินเป็นใบประกอบแบบขนนกออกเยื้องกันเล็กน้อย ก้านใบยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร มีใบย่อยประมาณ 6-20 คู่ จัดเรียงตัวกันแบบสลับ แต่ใบย่อย 2 คู่แรกจะเรียงตัวกันแบบตรงข้าม ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือกลม ขอบใบเรียบ ใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 3.5-6.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-17.5 เซนติเมตร หลังใบเรียบเป็นมัน ท้องใบมีขนอ่อนนุ่ม 2 ชนิด ชนิดแรกเป็นขนยาว ปลายแหลม อ่อนนุ่ม ส่วนอีกชนิดจะมีจำนวนน้อยกว่าและสั้นกว่า มีลักษณะปลายขนมนแข็งกว่าชนิดแรก ขึ้นปกคลุมด้านหลังใบเป็นจำนวนมาก ก้านใบยาวประมาณ 2-8 มิลลิเมตร

ดอกยมหินออกเป็นช่อตามมุมกิ่งอ่อนหรือตามปลายยอด ปลายช่อห้อยลง ยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร กิ่งหลักของช่อดอกยาวประมาณ 16 เซนติเมตร ส่วนกิ่งย่อยยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ดอกยมหินมีขนาดเล็ก มีกลิ่นหอม เป็นดอกชนิดมีเพศเดียวและดอกแบบสมบูรณ์เพศ มีความยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีใบประดับขนาดประมาณ 2-7 มิลลิเมตร เป็นรูปสามเหลี่ยมแคบ และจะหลุดร่วงไปเมื่อดอกบาน ก้านดอกยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร อยู่ติดกับก้านดอกเทียมซึ่งยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มีกลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ ปลายกลีบมน สีเขียวออกม่วงหรือสีแดง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5-3.5 มิลิเมตร กลีบดอกมีกลีบ 4-5 กลีบ แยกจากกันอย่างอิสระ กลีบดอกยาวประมาณ 12-20 มิลลิเมตร กลีบยาวแคบ ปลายมน สีเขียวอ่อนหรือสีเหลืองปนสีม่วง มีขนสั้นๆ ขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วทั้งกลีบดอก ก้านเกสรตัวผู้เป็นรูปทรงกระบอก ปลายเรียวแคบ ขอบหยักเล็กน้อย เกสรตัวผู้ติดอยู่บนขอบทรงกระบอกนี้ ไม่มีขน มีสีเหมือนกลีบดอก มีรูปทรงแบบขอบขนาน ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบมีรูปทรงคล้ายแจกัน ภายในมีช่องประมาณ 3-5 ช่อง ในแต่ละช่องมีไข่เป็นจำนวนมาก ส่วนก้านชูเกสรตัวเมียมีลักษณะยาวแคบ ส่วนปลายมีรอยหยัก แบ่งออกเป็น 3-5 หยัก มีน้ำเหนียวๆ และมีขนอ่อนนุ่มปกคลุม

ผลยมหินออกเป็นพวง ลักษณะผลเป็นรูปทรงรีหรือรูปไข่ ปลายผลเป็นติ่งแหลม ผลยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.8-4 เซนติเมตร ผลเป็นผลแห้งมีเปลือกแข็งสีน้ำตาล เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีดำ เมื่อแห้งหรือแก่จะแตกออก ภายในแบ่งเป็น 3-5 ช่อง ในแต่ละช่องมีเมล็ดอยู่ประมาณ 60-100 เมล็ด เรียงแบบสลับกันระหว่างส่วนหัวและปลายเมล็ด เมล็ดมีลักษณะแบนเป็นแผ่นบางๆ สีน้ำตาล มีขนาดกว้างประมาณ 0.4-1.0 เซนติเมตรและยาวประมาณ 0.8-1.8 เซนติเมตร

ฤดูออกดอก : ออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด

การปลูก : ต้นยมหินจัดเป็นไม้กลางแจ้งสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินทุกชนิด ต้องการน้ำและความชุ่มชื้นปานกลาง

การใช้ประโยชน์ :

เนื้อไม้ของต้นยมหินมีลายสวยงาม สีน้ำตาลอมเหลืองเป็นมัน เนื้อไม้ละเอียด มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ นิยมนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ที่มีราคาแพง ใช้ในงานก่อสร้างบ้านเรือน งานโครงสร้าง เครื่องจักสาน และเครื่องมือใช้สอยต่างๆ เช่น ใช้ทำเสา ขื่อ รอด ตง ปูพื้นห้อง กระดาน หน้าต่าง ประตู ฝาบ้าน ไม้อัด รวมทั้งนำมาใช้ทำกล่องใส่ใบชา ใช้ในงานศิลปะ นอกจากนี้เปลือกจากเนื้อไม้ของต้นยมหินยังมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรใช้ปรุงยาแก้ไข้เปลี่ยนฤดู หนาวๆ ร้อนๆ ไข้จับสั่น และใช้เป็นยาสมานแผลได้อีกด้วย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง