หอมหัวใหญ่ (Onion)

หอมหัวใหญ่ (Onion)

หอมหัวใหญ่เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์เดียวกับหอมแดงและกระเทียม นิยมนำมาประกอบอาหารประเภทยำ ใช้เป็นส่วนประกอบในผักสลัด และใช้ประกอบอาหารประเภทต่างๆ เพื่อเพิ่มรสชาติได้หลากหลายชนิด เช่น ข้าวผัด ไก่ผัดขิง ไข่เจียว อาหารประเภทสตู และซุปต่างๆ นอกจากรสชาติที่หวานตามธรรมชาติที่ทำให้อาหารมีรสกลมกล่อมแล้ว หัวหอมใหญ่ยังมีสรรพคุณช่วยป้องกันและรักษาโรคสำคัญต่างๆ ได้หลายชนิด โดยพบว่าหอมหัวใหญ่นั้นอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และสารประกอบที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่า 300 ชนิด มีสรรพคุณช่วยลดโคเลสเตอรอลในเส้นเลือด ป้องกันโรคของระบบหลอดเลือด เป็นยาขับปัสสาวะ ขับเสมหะ ป้องกันโรคเบาหวาน รักษาอาการนอนไม่หลับ ไขข้ออักเสบ โรคเหน็บชา ไอกรน หอบหืด บิด แก้พิษแมลงกัดต่อย รักษาผิวหนังที่ถูกน้ำร้อนลวก แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดได้เป็นอย่างดี


ชื่อสามัญ : Onion, Top Onion, Dry Bulb Onion
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Allium cepa Linn.
วงศ์ : AMARYLLIDACEAE
ชื่ออื่น : หอมใหญ่ หอมฝรั่ง (ทั่วไป), หอมหัวหลวง หอมจีน (ภาคเหนือ), ชงโกว หูชง ยวี่ชง (จีน)
ถิ่นกำเนิด : ประเทศในแถบเอเชียกลางและเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ในประเทศอัฟกานิสถาน อิหร่านและปากีสถาน
ลักษณะทั่วไป : หอมหัวใหญ่เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์เดียวกับหอมแดงและกระเทียม เป็นพืชล้มลุก มีความสูงประมาณ 30-40 เซนติเมตร มีหัวอยู่ใต้ดินลักษณะกลมป้อม มีเปลือกนอกบางๆ สีม่วงแดงหุ้มอยู่ แต่เมื่อแห้งแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ลำต้นใต้ดินหรือที่เรียกว่าหัวนั้น ภายในมีกาบใบสีขาวอวบหุ้มซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ ทำให้มีลักษณะเป็นหัวเช่นเดียวกับกระเทียมและหอมแดง รากของหอมหัวใหญ่เป็นระบบรากฝอย มีขนาดเล็กสีน้ำตาล สามารถหยั่งลงลงดินได้ประมาณ 15-20 เซนติเมตร และรากแพร่ออกด้านข้างได้ประมาณ 20-40 เซนติเมตร มีจำนวนรากมากกว่า 20-100 ราก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นกระจุก 3-4 ใบ แทงตั้งตรงขึ้นจากหัว ลักษณะเป็นรูปดาบ ข้างในกลวงมีความกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร เส้นใบจีบตามยาวลักษณะคล้ายพัด ดอกออกเป็นช่อแทงขึ้นตรงกลางหัวแทนที่ของใบ แต่ละช่อมีดอกได้มากกว่า 50 ดอก ก้านดอกทรงกลมยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ด้านในก้านเป็นรูกลวง ดอกตูมมีกลีบเลี้ยงหุ้มคลุมดอกไว้หมด เมื่อดอกบาน กลีบเลี้ยงจะปริออก โผล่เป็นกลีบดอกออกให้เห็น กลีบดอกมีจำนวน 6 กลีบ ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ 6 อัน มี 2 ชั้น แต่ละชั้นมีกลีบเท่ากัน และมีเกสรตัวเมีย 1 อัน โดยดอกจะทยอยบานจากล่างขึ้นบน เมล็ดมีขนาดเล็ก สีดำ เมล็ดมีลักษณะเป็นพู 3 พู แต่ละพูมีเมล็ด 1-2 เมล็ด
การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
การปลูก : หอมใหญ่เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่อุดมสมบูรณ์ ในช่วงที่เจริญเติบโตสภาพดินต้องมีความชื้นพอเหมาะสม แต่ในขณะที่แก่ใกล้เก็บเกี่ยวต้องมีความชื้นในอากาศน้อยและดินต้องแห้ง หอมใหญ่ต้องการแสงแดดในการเจริญเติบโตเต็มที่ตลอดทั้งวัน และอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตจะอยู่ที่ประมาณ 13-24 องศาเซลเซียส
ประโยชน์ : หอมหัวใหญ่ มีสารฟลาโวนอยด์ กลัยโคไซด์ มีคุณสมบัติขัดขวางไขมันไม่ให้เกาะตามผนังเส้นเลือด ลดโคเลสเตอรอลในเส้นเลือด ป้องกันโรคของระบบหลอดเลือด เป็นยาขับปัสสาวะ ขับเสมหะ ป้องกันโรคเบาหวาน รักษาอาการนอนไม่หลับ ไขข้ออักเสบ โรคเหน็บชา ไอกรน หอบหืด บิด แก้พิษแมลงกัดต่อย อาการปวดบวมตามข้อ รักษาผิวหนังที่ถูกน้ำร้อนลวก ช่วยให้ขับลม แก้อาการท้องอืด จุกเสียด ลดโอกาสในการเกิดโรคกระเพาะได้เป็นอย่างดี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง