เขตบางบอน

เขตบางบอน

บางบอนในอดีตเป็นชื่อหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่มีความเก่าแก่อย่างน้อยตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีหลักฐานเป็นวรรณคดีหลายเรื่องที่กล่าวถึง ได้แก่

โคลงนิราศทวาย (โคลงนิราศไปแม่น้ำน้อย) ของ พระพิพิธสาลี แต่งในสมัยรัชกาลที่ 1

๏ ดลปากบางชื่อบ้าน บางบอน
กามระลุงทรวงฟอน ฟ่ามแล้ว
เรียมแสนทุกข์อาทร ทนเทวษ
ถนัดหนึ่งบอนกาบแก้ว แยบไส้เรียมคาย ฯ

โคลงนิราศนรินทร์ ของ นายนรินทรธิเบศร์ (อิน) แต่งในสมัยรัชกาลที่ 2

๏ เรือมามาแกล่ใกล้ บางบอน
ถนัดหนึ่งบอนเสียดซอน ซ่านไส้
จากมาพี่คายสมร เสมอชีพ เรียมเอย
แรมรสกามาไหม้ ตากต้องทรวงคาย ฯ

นิราศเมืองเพชร ของ สุนทรภู่ แต่งในสมัยรัชกาลที่ 4

๏ ถึงบางบอนบอนที่นี่มีแต่ชื่อ
เขาเลื่องฦๅบอนข้างบางยี่ขัน
อันบอนต้นบอนน้ำตาลย่อมหวานมัน
แต่ปากคันแก้ไขมิใคร่ฟัง ฯ

ต่อมาเมื่อมีการจัดการปกครองส่วนภูมิภาคโดยแบ่งออกเป็นมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน บางบอนจึงกลายมาเป็นท้องที่การปกครองของอำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี โดยในพื้นที่แถบนี้รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงมีการปรับเปลี่ยนเขตการปกครองหลายครั้ง ในที่สุดเมื่อปี พ.ศ. 2483 ทางราชการได้ยุบรวมท้องที่ ตำบลบางบอนเหนือ ตำบลบางบอนใต้ และตำบลแสมดำเข้าด้วยกันและตั้งเป็น ตำบลบางบอน ขึ้น

ในปี พ.ศ. 2514 จังหวัดธนบุรีถูกรวมเข้ากับจังหวัดพระนคร เปลี่ยนฐานะเป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และในปี พ.ศ. 2515 จึงเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้เปลี่ยนการเรียกหน่วยการปกครองใหม่ด้วย ตำบลบางบอนจึงได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็น แขวงบางบอน และอยู่ในเขตการปกครองของสำนักงานเขตบางขุนเทียน

ภายหลังในเขตบางขุนเทียนมีความเจริญและมีประชากรหนาแน่นขึ้นมาก เพื่อให้การปกครองและการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2540 กระทรวงมหาดไทยจึงประกาศแยกพื้นที่แขวงบางบอนออกจากเขตบางขุนเทียนตั้งเป็น เขตบางบอน เขตลำดับที่ 50 ของกรุงเทพมหานคร

ต้นบอน

ต้นบอน บางบอน
ชื่อสามัญ: Elephant ear, Cocoyam, Dasheen, Eddoe, Japanese taro, Taro
ชื่อวิทยาศาสตร์: Colocasia esculenta (L.) Schott
วงศ์: ARACEAE
ชื่ออื่นๆ: ตุน (เชียงใหม่), บอนหอม (ภาคเหนือ), บอนจืด (ภาคอีสาน), บอนเขียว บอนจีนดำ (ภาคกลาง), บอนท่า บอนน้ำ (ภาคใต้), คึ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), ขื่อที้พ้อ ขือท่อซู่ คึทีโบ คูชี้บ้อง คูไทย ทีพอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กลาดีไอย์ (มาเลย์-นราธิวาส), กลาดีกุบุเฮง (มาเลย์-ยะลา), เผือก บอน (ทั่วไป), บอนหวาน เป็นต้น
ถิ่นกำเนิด: เขตที่ราบลุ่มของเอเชียอาคเนย์ ในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาค
ลักษณะทั่วไป: บอน เป็นพืชอวบน้ำล้มลุกมีอายุได้หลายปี มีหัวใต้ดิน มักขึ้นเป็นกลุ่มๆ หลายต้นเรียงรายตามพื้นที่ลุ่มริมน้ำ มีความสูงของต้นประมาณ 0.7-1.2 เมตร ลำต้นประกอบไปด้วยหัวกลางและหัวย่อยอยู่รอบๆ หัวใหญ่ ใบรูปไข่แกมรูปหัวใจ ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบเว้าลึกรูปสามเหลี่ยม ก้านใบสีเขียวหรือออกม่วง ดอก สีครีมหรือเหลืองนวล ออกเป็นช่อ ดอกตัวผู้อยู่ตอนบน ดอกตัวเมียอยู่ตอนล่าง ก้านช่อสั้นกว่าก้านใบ มีใบประดับสีเหลืองรองรับ ผลสด รูปขอบขนาน เมล็ด ขนาดเล็กจำนวนมาก พบได้ทั่วไปประเทศไทยพบทุกภาค ชอบขึ้นบนดินโคลนหรือบริเวณที่มีน้ำขัง
ขยายพันธุ์: ด้วยวิธีการแยกหน่อ ไหล และวิธีการปักชำหัว
การปลูก: เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ อุ้มน้ำได้ดี เพาะปลูกได้ง่าย มักขึ้นเองตามที่ลุ่ม บนดินโคลน บริเวณริมน้ำลำธาร หรือบริเวณที่มีน้ำขังตื้นๆ
ประโยชน์: หัวใต้ดิน รับประทานได้ ใช้เป็นยาระบาย ห้ามเลือด น้ำคั้นจากก้านใบเป็นยานวด แก้ฟกช้ำ ลำต้นบดใช้พอกแผลรวมทั้งแผลจากงูกัด ลำต้นใช้ทำอาหาร เช่นแกงบอน ส่วนของบอนที่นำมาแกงคือยอดอ่อน หรือใบอ่อนของบอนที่อยู่ใกล้โคนต้นใช้บอนพันธุ์สีเขียวสด ไม่มีสีขาวเคลือบอยู่ตามก้านและใบ ซึ่งเรียกว่า บอนหวาน ส่วนชนิดที่มีสีซีดกว่า และนวลขาวกว่า เรียกว่า บอนคัน ไม่นิยมนำมาแกง


ชื่อบางกับพรรณไม้

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง