เขตลาดพร้าว
เดิมเขตลาดพร้าวมีฐานะเป็น ตำบลลาดพร้าว ขึ้นอยู่กับอำเภอบางกะปิ จังหวัดพระนคร ต่อมาได้มีการยุบรวมจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนคร เปลี่ยนเป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรีและกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้เปลี่ยนการเรียกเขตการปกครองใหม่ด้วย ตำบลลาดพร้าวจึงได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็น แขวงลาดพร้าว และอยู่ในเขตการปกครองของสำนักงานเขตบางกะปิ
ต่อมาในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2532 จึงได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตบางกะปิ และตั้งเขตลาดพร้าว และเขตบึงกุ่ม จนกระทั่งในปี พ.ศ.2540 กระทรวงมหาดไทยได้เปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตลาดพร้าวใหม่ โดยแบ่งพื้นที่แขวงจรเข้บัวเฉพาะส่วนที่อยู่ฟากเหนือคลองสามขา คลองโคกคราม และคลองตาเร่งไปเป็นพื้นที่ของเขตบางเขน และแบ่งพื้นที่บางส่วนของแขวงลาดพร้าวไปจัดตั้งเป็นเขตวังทองหลาง ตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการจัดขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรของแต่ละเขตให้มีความเหมาะสมใกล้เคียงกัน เพื่อประโยชน์แก่การปกครอง
และในวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2545 กระทรวงมหาดไทยได้โอนพื้นที่บางส่วนของเขตวังทองหลางมาเป็นส่วนหนึ่งของแขวงลาดพร้าว
สัญลักษณ์ของเขตลาดพร้าวคือ ลูกมะพร้าวแตกยอดอ่อนสองใบ เพื่อแสดงนัยสองประการ กล่าวคือประการแรกมีคำเล่าขานกันมาว่าในสมัยก่อนพื้นที่เขตลาดพร้าว มีการเพาะปลูกมะพร้าวเป็นจำนวนมาก จึงควรนำมะพร้าวมาเป็นสัญลักษณ์ ประการที่สองมะพร้าว เป็นพืชที่เจริญงอกงามและเติบโตรวดเร็ว การนำมะพร้าวมาเป็นสัญลักษณ์ของเขตก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าเขตลาดพร้าวจะสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วต่อไป ส่วนใบอ่อนสองใบนั้นหมายถึง เขตลาดพร้าว ประกอบด้วย แขวงสองแขวงคือ แขวงลาดพร้าว และแขวงจรเข้บัว
ต้นมะพร้าว
ชื่อสามัญ: Coconut
ชื่อวิทยาศาสตร์: Cocos nucifera Linn.
วงศ์: ARECACEAE
ชื่ออื่นๆ: ดุง (จันทบุรี), เฮ็ดดุง (เพชรบูรณ์), โพล (กาญจนบุรี), คอส่า (แม่ฮ่องสอน), พร้าว (นครศรีธรรมราช), หมากอุ๋น หมากอูน (ทั่วไป), เอี่ยจี้ (จีน)
ลักษณะทั่วไป: ต้นมะพร้าวเป็นไม้ยืนต้น สูงชะลูด 7–10 เมตร ลำต้นกลม ไม่แตกกิ่งก้าน เปลือกต้นแข็ง สีเทา ขรุขระ มีรอยแผลใบที่เกิดจากใบแก่ที่หลุดร่วงไป ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงเวียน ไปตามลำต้น ใบย่อยเป็นแผ่นแคบยาว เรียงสลับกันเป็นรูปขนนกปลายใบแหลม กว้าง 3.5- ซม. ยาว 80-120 ซม. ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบสีเขียวแก่เป็นมัน โคนก้านใบใหญ่แผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น ดอกออกเป็นช่อแขนงบริเวณกาบที่หุ้มลำต้น ดอกย่อยขนาดเล็ก ดอกหนึ่งมีกลีบดอกประมาณ 6 กลีบ ในช่อหนึ่งมีทั้งดอกเพศผู้และเพศเมีย ดอกเพศผู้อยู่ปลายช่อ ดอกเพศเมียอยู่บริเวณโคนช่อดอก ไม่มีก้านดอก ผลเป็นรูปกลมหรือรีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8-9 นิ้ว เปลือกนอกเรียบเกลี้ยง ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่มีสีน้ำตาล เปลือกชั้นกลางเป็นเส้นใยนุ่ม ชั้นในแข็งเป็นกะลา เนื้อผลมีสีขาวนุ่ม และมีน้ำใส รสจืดหรือหวาน
ประโยชน์: น้ำมะพร้าว ดื่มเป็นเครื่องดื่มแก้กระหาย ใช้เป็นเครื่องดื่มเกลือแร่ได้ เนื้อมะพร้าวใช้ทำอาหารและขนม เนื้อมะพร้าวแก่นำมาคั้นกะทิใช้ทำอาหารและขนม ใช้ทำน้ำมันมะพร้าว นำไปใช้ในการปรุงอาหารหรือนำไปทำเครื่องสำอาง หรือนำไปผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันมะพร้าว ใยมะพร้าวนำไปใช้ยัดฟูกทำที่นอน ทำเสื่อ หรือนำไปใช้ในการเกษตร กะลามะพร้าว นำไปใช้ทำสิ่งประดิษฐ์และของใช้ต่างๆ เช่น กระบวย โคมไฟ กระดุม ซออู้ ฯลฯ ก้านใบ หรือ ทางมะพร้าว ใช้ทำไม้กวาดทางมะพร้าว จั่นมะพร้าว (ช่อดอกมะพร้าว) ให้น้ำตาล จาวมะพร้าวนำมาเป็นอาหารได้