แดง

แดง

ต้นแดงเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดตาก เป็นอีกหนึ่งพันธุ์ไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ใช้ประโยชน์ด้วยการใช้เนื้อไม้ในเชิงอุตสาหกรรมป่าไม้ ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ต่างๆ เนื้อไม้มีสีแดงเรื่อๆ หรือสีน้ำตาลอมแดง เสี้ยนเป็นลูกคลื่น เนื้อละเอียดพอประมาณ มีความแข็งแรงทนทาน ต้นแดงมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร สามารถรักษาโรคได้หลายอาการ เช่น เปลือกที่มีรสฝาด ช่วยแก้อาการท้องร่วง ช่วยสมานธาตุ ส่วนแก่น ช่วยแก้อาการท้องเสีย เป็นยาบำรุงโลหิต ช่วยลดไข้ และช่วยลดอาการอักเสบต่างๆ เป็นต้น

ชื่อสามัญ : Iron Wood

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Xylia xylocarpa (Roxb.) Taub.

วงศ์ : FABACEAE

ชื่ออื่น : คว้าย (เชียงใหม่ กาญจนบุรี), ไคว (แพร่ แม่ฮ่องสอน), จะลาน จาลาน ตะกร้อม สะกรอม (จันทบุรี), ซะกร็อฺม ปราน (สุรินทร์)

การแพร่กระจาย : ต้นแดงพบกระจายพันธุ์ในประเทศแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถพบได้ในป่าเบญจพรรณแล้งและป่าเต็งรัง รวมไปถึงป่าละเมาะในเขตแห้งแล้ง ในประเทศไทยขึ้นได้ทั่วทุกภาคของประเทศ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

ต้นแดงเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 25-40 เมตร เป็นไม้ผลัดใบ เรือนยอดรูปทรงกลมหรือเก้งก้างไม่ค่อยแน่นอน ลำต้นเปลาตรง กิ่งก้านลู่ลง เปลือกของลำต้นมีสีเทาอมแดง ตกสะเก็ดออกเป็นแผ่นกลมบางๆ รอบลำต้น เปลือกชั้นในสีชมพู ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น มีก้านใบชั้นที่หนึ่ง 1 คู่ ยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร มีใบย่อย 3-5 คู่ เรียงตรงกันข้าม ก้านใบร่วมยาว 3–8 เซนติเมตร ใบย่อยรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมมน ฐานใบเบี้ยว ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2–6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4–15 เซนติเมตร ก้านใบย่อยยาว 2–4 มิลลิเมตร ใบมีสีเขียว ใบอ่อนมีขนสีเหลืองปกคลุม ใบแก่ไม่มีขนปกคลุม ดอกสีเหลือง มีขนาดเล็ก ออกอัดกันแน่นเป็นช่อกลม ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของดอกประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาวประมาณ 3–5 เซนติเมตร ดอกย่อยไม่มีก้าน มีขนสีเหลืองปกคลุมอยู่ทั่วทั้งดอก กลีบรองดอกเชื่อมติดกันคล้ายรูประฆัง ตรงปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ กลีบดอกมี 5 กลีบ ติดกันเล็กน้อยที่บริเวณฐาน เกสรตัวผู้มี 10 ก้าน แยกออกจากกันแบบอิสระยื่นออกมานอกดอก อับเรณูไม่มีต่อม ดอกจะออกมาพร้อมกับใบอ่อนช่วงเดือนกุมภาพันธุ์ถึงเดือนมีนาคม ผลเป็นฝักแบนแข็ง รูปขอบขนานเรียวและโค้งงอที่ส่วนปลาย ฝักยาวประมาณ 7–10 เซนติเมตร ผิวฝักเรียบ สีน้ำตาลอมเทา ไม่มีก้าน เมื่อฝักแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก เปลือกฝักเมื่อแตกออกจากกันแล้วจะบิดงอ ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 6-10 เมล็ด เมล็ดแบนเรียวแหลม ยาวรีหรือเกือบกลม สีน้ำตาลเป็นมัน เปลือกหุ้มเมล็ดแข็งพอประมาณ เมล็ดมีขนาด ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร กว้างประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร ฝักจะแก่ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม

ฤดูออกดอก : ดอกจะออกมาพร้อมกับใบอ่อนช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม ฝักจะแก่ประมาณเดือนตุลาคมถึงธันวาคม

การขยายพันธุ์ : การขยายพันธุ์ต้นแดงนิยมขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด เมล็ดที่ใช้ควรเป็นเมล็ดที่มีความสมบูรณ์ โดยการนำฝักแก่มาแกะเมล็ดออก นำเมล็ดไปตากแดดประมาณ 1-2 วัน ก่อนนำไปเพาะ

การปลูก : ต้นแดงสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุย ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ควรปลูกในที่กลางแจ้ง มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อให้ต้นไม้แดงสามารถรับแสงแดดได้อย่างเต็มที่

การใช้ประโยชน์ :

ไม้แดงมีเนื้อไม้ที่แข็งแรง ทนทาน สามารถทนต่อแรงกระแทกได้สูง ทนต่อปลวกและแมลงกัดกิน เหมาะแก่การนำมาแปรรูปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย นิยมนำมาใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ทำเสาบ้าน รอด ตง ใช้ทำกระดานพื้นบ้าน ฝาบ้าน ใช้ทำด้าม ทำหมอนรางรถไฟ เป็นต้น ต้นแดงยังมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร สามารถรักษาโรคได้หลายอาการ เช่น เปลือกที่มีรสฝาด ช่วยแก้อาการท้องร่วง ช่วยสมานธาตุ ส่วนแก่น ช่วยแก้อาการท้องเสีย เป็นยาบำรุงโลหิต ช่วยลดไข้ และช่วยลดอาการอักเสบต่างๆ เป็นต้น

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง