ขมิ้นชัน (Turmeric)
ขมิ้นชัน เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์คือส่วนของลำต้นใต้ดินที่เรียกว่าเหง้า โดยนิยมนำมาปรุงช่วยเพิ่มสีสันแต่งกลิ่นและรสชาติของอาหาร ใช้ประกอบอาหารหลายชนิดโดยเฉพาะอาหารทางภาคใต้ เช่น แกงเหลือง แกงไตปลา แกงกะหรี่ ไก่ทอดขมิ้น เป็นต้น สรรพคุณของขมิ้นชันมีมากมาย เช่น ช่วยรักษาโรคลำไส้อักเสบ ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้ ช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหาร กระตุ้นการหลังสารเมือกมาเคลือบกระเพาะอาหาร ยับยั้งการหลั่งน้ำย่อยและช่วยสมานแผล ขมิ้นชัน มีสารประกอบเคอร์คูมิน (curcumin) ช่วยต้านการอักเสบ ต้านการเกิดมะเร็ง และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
ชื่อสามัญ : Turmaric
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma longa L.
วงศ์ : ZINGIBERACEAE
ชื่ออื่น : ขมิ้น ขมิ้นแกง ขมิ้นหยอก ขมิ้นหัว ขี้มิ้น หมิ้น
ถิ่นกำเนิด : มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกใต้
ลักษณะทั่วไป : ขมิ้นชันเป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี สูงประมาณ 30-90 เซนติเมตร ลำต้นเป็นเหง้าอยู่ใต้ดินมีแขนงรูปทรงกระบอกแตกออกด้านข้าง 2 ด้านตรงกันข้าม เนื้อในเหง้าสีเหลืองส้ม มีกลิ่นเฉพาะ ใบเป็นใบเดี่ยว รูปใบหอกกว้างประมาณ 12-15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร แทงออกมาจากเหง้าเรียงเป็นวงซ้อนทับกัน ดอกออกเป็นช่อ แทงออกจากเหง้า แทรกขึ้นมาระหว่างก้านใบ รูปทรงกระบอก กลีบดอกสีเหลืองอ่อน ใบประดับสีเขียวอ่อนหรือสีนวล บานครั้งละ 3-4 ดอก ผลรูปกลมมี 3 พู
การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการปักชำเหง้า
การปลูก : ปลูกในดินที่มีความร่วนซุย มีอินทรียวัตถุและระบายน้ำได้ดี ปลูกกลางแจ้งหรือที่มีแสงรำไร ให้น้ำอย่างพอเพียงและสม่ำเสมอตั้งแต่เริ่มปลูกจนพืชตั้งตัวได้ ให้น้ำน้อยลงในระยะหัวเริ่มแก่
สรรพคุณ : ใช้เหง้ารักษาโรคผิวหนังผื่นคัน โดยทำเป็นผงผสมน้ำหรือเหง้าสดฝนทาน้ำ น้ำมันหอมระเหยและสารเคอร์คูมิน (curcumin) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อหนองได้ดี นอกจากนี้ยังใช้เหง้ารักษาโรคท้องอืด ท้องเฟ้อและแผลในกระเพาะอาหาร ทำให้การย่อยอาหารดีขึ้น อาการจุกเสียดลดลง สารเคอร์คูมิน (curcumin) ยังสามารถยับยั้งการเกิดก๊าซที่สร้างโดยเชื้อโรคที่ทำให้ท้องเสีย นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งเมือกในทางเดินอาหาร จึงใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหารได้ ต้านการเกิดมะเร็ง และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ แต่มีข้อควรระวังคือ สารเคอร์คูมิน (curcumin) ในขนาดที่สูงกว่าขนาดรักษา 2 เท่า ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้