ตะกู

ตะกู

ต้นตะกูเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูป หรือนำมาทำเป็นเครื่องรางของขลังพกติดตัว เชื่อว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ในอินเดียเชื่อกันว่า ตะกูเป็นต้นไม้ที่โปรดปรานของพระกฤษณะ และชาวอินเดียนิยมนำดอกตะกูไปใช้ในการบูชาเทพเจ้า นอกจากนั้นยังนิยมนำดอกตะกูไปเป็นส่วนผสมของน้ำหอมอีกด้วย ในประเทศไทยพบเห็นต้นตะกูขึ้นโดยทั่วไป มักพบเป็นกลุ่มอยู่ในป่า ในบ้านคนหรือตามข้างทางทั่วไป มักพบขึ้นเป็นคู่เสมอ โดยจะมีระยะห่างกันเฉลี่ยประมาณ 1-3 เมตร

ชื่อสามัญ : Bur-flower Tree

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anthocephalus chinensis (Lamk.) A. Rich. ex Walp.

วงศ์ : RUBIACEAE

ชื่ออื่น : กระทุ่ม (มีที่มาจากคำว่า กทัมพ ในภาษาบาลี), กระทุ่ม กระทุ่มบก (กรุงเทพฯ), ตุ้มหลวง ตุ้มก้านซ้วง ตุ้มก้านยาว (ภาคเหนือ), ปะแด๊ะ เปอแด๊ะ สะพรั่ง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ตุ้มพราย ทุ่มพราย (ขอนแก่น), ตะกู (สุโขทัย จันทบุรี นครศรีธรรมราช), แคแสง ตะโกส้ม ตะโกใหญ่ (ภาคตะวันออก), ตุ้มขี้หมู โกหว่า กลองประหยัน (ภาคใต้)

การแพร่กระจาย : ตะกูเป็นไม้ที่มีขอบเขตการกระจายพันธุ์กว้าง โดยมีการกระจายพันธุ์จากเนปาลและอัสสัมมาทางแถบเอเชียตะวันและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกระจายพันธุ์ลงไปทางใต้แถบมาเลเซีย อินโดนีเซีย จนกระทั่งถึงหมู่เกาะนิวกินี สามารถขึ้นได้ตั้งแต่ที่ราบริมทะเลไปจนถึงระดับความสูง 1,500 เมตร ปริมาณน้ำฝนรายปี 1,000-5,000 มิลลิเมตรในประเทศไทยตะกูมีการกระจายพันธุ์แทบทุกภาคของประเทศ โดยมักพบขึ้นเป็นกลุ่มในป่าดั้งเดิมที่ถูกแผ้วถางแล้วปล่อยทิ้งร้างไว้ หรือสองข้างทางรถยนต์ที่ตัดผ่านป่าที่ค่อนข้างชุ่มชื้น เช่นป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง เป็นต้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

ต้นตะกูเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 15-30 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกลำต้นสีเทาปนสีน้ำตาล แตกออกเป็นร่องละเอียดตามแนวยาว เนื้อไม้มีสีเหลืองอ่อนอมสีเทา มีความมันวาว เสี้ยนตรง และเนื้อค่อนข้างหยาบแต่สม่ำเสมอ ไม่มีแก่น เรือนยอดเป็นทรงพุ่มกลม กิ่งเกือบตั้งฉากกับลำต้น และลิดกิ่งเองตามธรรมชาติ เมื่อมีลมแรง พายุ กิ่งอาจหักง่าย ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงเป็นคู่ตรงข้ามกัน ลักษณะใบเป็นรูปทรงรีหรือรูปไข่ ใบมีขนาดความกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-24 เซนติเมตร ปลายใบมนหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบป้าน หูใบเป็นรูปสามเหลี่ยม เนื้อใบค่อนข้างหนา แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มและมีขนสากๆ ส่วนท้องใบมีสีเขียวอ่อนและมีขนนุ่มสั้นๆ เส้นแขนงใบมี 7-14 คู่ เห็นชัดทั้งสองด้าน ดอกของต้นตะกูมีขนาดเล็ก ออกติดกันแน่นอยู่บนช่อแบบช่อกระจุกแน่น (Head) ตามปลายกิ่ง ขนาดช่อประมาณ 4-5 เซนติเมตร ดอกสีขาวปนเหลืองหรือสีส้ม มีกลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบรองดอกเป็นหลอดสั้น กลีบดอก 5 กลีบ สีขาวเชื่อมกันเป็นหลอดยาว ปลายกลีบหยักมนและแผ่ออกเล็กน้อย ผลเป็นผลเดี่ยว มีลักษณะทรงกลมอยู่รวมกันแน่นเป็นก้อนกลมอยู่บนช่อดอก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.4-6 เซนติเมตร ผลมีสีเหลืองเข้ม ด้านในมีเมล็ดขนาดเล็กประมาณ 0.66-0.44 มิลลิเมตร

ฤดูออกดอก : ต้นตะกูออกดอกในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน และติดผลในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม

การขยายพันธุ์ : การขยายพันธุ์ต้นตะกูนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เพราะเมล็ดต้นตะกูมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก สามารถขยายพันธุ์ได้ครั้งละจำนวนมากและเป็นการลดต้นทุนการผลิต

การปลูก : ต้นตะกูเป็นไม้ที่ปลูกง่าย โตเร็ว ทนต่อความแห้งแล้ง และยังทนต่อสภาวะน้ำท่วมขัง สามารถฟื้นตัวเจริญเติบโตได้หลังน้ำลด และทนต่อการโดนไฟป่า ไม่ตายอีกด้วย

การใช้ประโยชน์ :

มีความเชื่อกันว่าต้นตะกูเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นไม้มงคล จึงนิยมนำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูป รูปเคารพบูชาต่างๆ หรือทำเป็นเครื่องรางของขลังพกติดตัว ในอินเดียเชื่อกันว่าต้นตะกูเป็นต้นไม้ที่โปรดปรานของพระกฤษณะ จึงนิยมนำดอกตะกูไปใช้ในการบูชาเทพเจ้า นอกจากนั้นยังนิยมนำดอกตะกูไปเป็นส่วนผสมของน้ำหอมอีกด้วย

ต้นตะกูเป็นต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ มีเนื้อไม้ละเอียด สีเหลืองหรือขาว มีน้ำหนักเบากว่าไม้ประดู่และไม้มะค่า มีน้ำหนักใกล้เคียงกับไม้สัก แต่ทนทานต่อปลวกและมอดได้ดีกว่าไม้สัก สามารถนำมาทำเฟอร์นิเจอร์ได้ทุกชนิด ทำโต๊ะ เก้าอี้ ไม้แบบ ไม้กระดาน ไม้หน้าสาม เสาบ้าน ประตู หน้าต่าง วงกบ งานฝีมือ รูปแกะสลัก หรือทำเรือขุด ตลอดจนใช้เป็นไม้แปรรูปในโรงงานอุตสาหกรรมทำเยื่อและกระดาษ ไม้บาง ไม้อัด ไฟเบอร์บอร์ด พาร์ติเคิลบอร์ด

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง