พะยูง
ต้นพะยูงเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นไม้ที่มีราคาแพงและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะจีน สิงคโปร์ ฮ่องกง และไต้หวัน จนนำไปสู่ปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงเพื่อส่งออก เพราะเนื้อไม้พะยูงมีสีสันและลวดลายสวยงาม มีความละเอียดเหนียว แข็งทนทานและชักเงาได้ดี นิยมนำมาใช้ในการทำเครื่องเรือน เครื่องใช้ ทำสิ่งประดิษฐ์ งานแกะสลัก กระสวยทอผ้า ใช้ทำเป็นเครื่องดนตรี ใช้ทำเป็นวัตถุมงคลและของแต่งบ้าน
คนไทยเชื่อว่าไม้พะยูงเป็นของสูง เป็นไม้มงคลนาม ตามชื่อที่พ้องกับคำว่า “พยุง” ที่หมายถึง การประคอง การช่วยให้ทรงตัวได้ จึงมีความเชื่อว่า หากปลูกต้นพะยูงไว้เป็นไม้ประจำบ้านจะทำให้บุคคลในบ้านมีแต่ความเจริญ มีฐานะดีขึ้น ชีวิตไม่ตกต่ำ ช่วยพยุงให้โชคดีมีชัย และต้นพะยูงยังจัดเป็นไม้มงคลที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารหรือก่อฐานประดิษฐ์วัตถุต่างๆ เช่น ในการนำมาใช้ในพิธีวางศิลาฤกษ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย
ชื่อสามัญ : Siamese Rosewood
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dalbergia cochinchinensis Pierre.
วงศ์ : LEGUMINOSAE
ชื่ออื่น : กระยง กระยูง (เขมร-สุรินทร์), ขะยูง (อุบลราชธานี), แดงจีน (ปราจีนบุรี), ประดู่ตม ประดู่น้ำ (จันทบุรี), พะยูงไหม (สระบุรี), ประดู่ลาย (ชลบุรี), ประดู่เสน (ตราด), พะยูง (ทั่วไป)
การแพร่กระจาย : ต้นพะยูงเป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ในประเทศไทยพบขึ้นกระจัดกระจายทั่วไปตามป่าเบญจพรรณชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าราบ ป่าโปร่ง และขึ้นประปรายทั่วไปทางภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-300 เมตร
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ต้นพะยูงเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ผลัดใบช่วงสั้นๆ ลำต้นสูงประมาณ 15-30 เมตร ทรงพุ่มโปร่งแผ่กว้าง ทรงกลมหรือรูปไข่ เปลือกต้นสีเทาเรียบ แตกไม่เป็นระเบียบ และหลุดร่อนเป็นแผ่น เปลือกในสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อไม้มีสีแดงอมม่วงถึงแดงเลือดหมูแก่ เนื้อละเอียด แข็งแรงทนทาน ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นเรียงสลับ ปลายคี่ แกนกลางใบประกอบยาว 10-15 เซนติเมตร เส้นแขนงใบข้างละ 5-7 เส้น ใบย่อย 7-9 ใบ รูปไข่หรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้ม แผ่นใบด้านล่างสีเขียวนวล ใบประกอบยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร กว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร ก้านใบย่อยยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็ก ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งขึ้น ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปดอกถั่วสีขาวนวล มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ยาวประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร ดอกบานเต็มที่มีขนาดกว้างประมาณ 5-8 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ขอบหยักเป็นแฉกตื้นๆ 5 แฉก มีขนสั้น เกสรตัวผู้ 10 อัน อันบนอยู่เป็นอิสระ นอกนั้นจะอยู่ติดกันเป็นกลุ่มๆ รังไข่มีลักษณะเป็นรูปรี ภายในมีช่องเดียว แต่มีไข่อ่อนอยู่หลายหน่วย หลอดท่อรังไข่มีหลอดเดียว ยาวยื่นพ้นเกสรตัวผู้ขึ้นมา ดอกร่วงพร้อมกัน ภายใน 2-3 วัน ผลออกเป็นฝัก ลักษณะของฝักเป็นรูปขอบขนาน แบนบาง ผิวฝักเกลี้ยง ขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร ตรงกลางมีกระเปาะหุ้มเมล็ด ฝักจะแก่หลังจากออกดอกประมาณ 2 เดือน เมื่อฝักแก่จะไม่แตกออก แต่ฝักจะร่วงหล่นโดยที่เมล็ดยังอยู่ในฝัก เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไต สีน้ำตาลเข้ม มีประมาณ 1-4 เมล็ดต่อฝัก ผิวเมล็ดค่อนข้างมัน กว้างประมาณ 4 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร
ฤดูออกดอก : ต้นพะยูงออกดอกราวเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม ติดผลราวเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน
การขยายพันธุ์ : การขยายพันธุ์ที่นิยมใช้ขยายพันธุ์ต้นพะยูงคือ การนำเมล็ดมาเพาะให้เป็นต้นกล้า ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกและได้ผล
การปลูก : ต้นพะยูงเป็นไม้กลางแจ้ง ทนแล้งได้ดี สามารถขึ้นได้ในดินทุกชนิด
การใช้ประโยชน์ :
เนื้อไม้พะยูงมีสีสันและลวดลายสวยงาม เนื้อไม้มีความละเอียดเหนียว แข็งทนทานและชักเงาได้ดี มีน้ำมันในตัว จึงนิยมนำมาใช้ในการทำเครื่องเรือน เครื่องใช้ ทำสิ่งประดิษฐ์ งานแกะสลัก กระสวยทอผ้า ใช้ทำเป็นเครื่องดนตรี ใช้ทำเป็นวัตถุมงคลและของแต่งบ้าน เชื่อว่าเป็นของสูง มีชื่อเป็นมงคล ปลูกไว้จะมีแต่ความเจริญ ชีวิตไม่ตกต่ำ ช่วยให้โชคดีมีชัย และต้นพะยูงยังจัดเป็นไม้มงคลที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารหรือก่อฐานประดิษฐ์วัตถุต่างๆ เช่น ในการนำมาใช้ในพิธีวางศิลาฤกษ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย สรรพคุณทางสมุนไพรของต้นพะยูง ใช้เปลือกต้นหรือแก่นพะยูง นำมาผสมกับแก่นสนสามใบ แก่นขี้เหล็ก และแก่นแสมสาร ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้มะเร็ง รากใช้กินเป็นยารักษาอาการไข้พิษเซื่องซึม เปลือกนำมาต้มเอาแต่น้ำ ใช้เป็นยาอมรักษาโรคปากเปื่อย ปากแตกระแหง ยางสดใช้เป็นยาทาปาก รักษาโรคปากเปื่อย ใช้ทาแก้เท้าเปื่อย