มะกรูด (Kaffir lime)

มะกรูด (Kaffir lime)

มะกรูดเครื่องเทศคู่ครัวไทยมาอย่างยาวนาน เพราะเป็นส่วนผสมหลักในเครื่องแกงหลายชนิด รวมทั้งเป็นส่วนผสมของอาหารไทยอีกหลายชนิด ซึ่งโดยปกติแล้วมักนิยมใช้ใบมะกรูดและผิวมะกรูดมาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องปรุงอาหาร ใช้ดับกลิ่นคาว แต่งกลิ่นและรสในอาหาร ผิวมะกรูดใส่เป็นส่วนผสมในน้ำพริกแกงต่างๆ น้ำมะกรูดใช้ปรุงรสเปรี้ยวในแกงเทโพ แกงส้ม เพราะมีกลิ่นหอม รสเปรี้ยวอมหวานกลมกล่อม ถ้าผ่าครึ่งผลตามขวางทั้งเปลือกมักใช้ใส่ในแกงเทโพ น้ำพริกน้ำยาของขนมจีน ใบมะกรูดใช้ใส่ต้มยำ ต้มข่า ต้มแซบ หรือซอยโรยหน้าห่อหมก ฉู่ฉี่ พะแนง และใส่เป็นส่วนผสมทอดมัน นอกจากมะกรูดจะใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารต่างๆ แล้ว มะกรูดยังเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางความงามและทางยา เช่น ใช้สระผมช่วยให้ผมดกดำสวยงาม ช่วยขับลม แก้จุกเสียด แก้ลมวิ่งเวียน แก้เลือดออกตามไรฟัน นอกจากนี้โบราณยังถือว่ามะกรูดเป็นไม้มงคลที่ควรปลูกไว้บริเวณบ้านทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เพราะเชื่อว่าจะทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความสุข

มะกรูด (Kaffir lime) พืชเครื่องเทศ
ชื่อสามัญ : Kaffir lime, Leech lime, Mauritius papeda
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Citrus hystrix DC.
วงศ์ : RUTACEAE
ชื่ออื่น : มะขุน มะขูด (ภาคเหนือ), มะขู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ส้มกรูด ส้มมั่วผี (ภาคใต้)
ถิ่นกำเนิด : เขตร้อนชื้นแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า ลาว กัมพูชา
ลักษณะทั่วไป : มะกรูด เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 2-8 เมตร เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาลอ่อน มีหนามแหลมยาวตามกิ่งก้าน ใบเป็นใบประกอบ ออกเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ปลายใบและโคนใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนา เรียบเป็นมัน สีเขียวและเขียวเข้มตามอายุของใบ ก้านใบมีปีกดูคล้ายใบ ทำให้ใบแบ่งออกเป็น 2 ตอน หรือคล้ายใบไม้ 2 ใบ ต่อกัน ขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร ตามผิวใบมีต่อมน้ำมันที่มีกลิ่นหอมเฉพาะ ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมีดอกประมาณ 1-5 ดอก ดอกสีขาว มีกลีบดอกมี 5 กลีบ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ มีขนปกคลุม ดอกมะกรูดเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ภายในดอกมีเกสรสีเหลือง ดอกมีกลิ่นหอมเล็กน้อย และเมื่อแก่จะร่วงง่าย ผลมะกรูดมีลักษณะค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-7 เซนติเมตร เปลือกผลค่อนข้างหนา ผิวขรุขระเป็นลูกคลื่นหรือเป็นปุ่มนูน มีจุกที่หัวและท้ายของผล ผลอ่อนสีเขียวแก่ เมื่อสุกเป็นจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ภายในเปลือกมีต่อมน้ำมันหอมระเหยเป็นจำนวนมาก ด้านในผลประกอบด้วยเนื้อฉ่ำน้ำ มีรสเปรี้ยวปนขมเล็กน้อย มีเมล็ดกลมรี สีขาว แทรกบริเวณกลางผลประมาณ 5-10 เมล็ด
การขยายพันธุ์ : การขยายพันธุ์มะกรูดสามารถทำได้ด้วยหลายวิธี เช่น การตอนกิ่ง การทาบกิ่ง การติดตา การต่อยอด และการเพาะเมล็ด แต่วิธีที่เป็นที่นิยม ได้แก่ การตอนกิ่ง การต่อยอด และการเพาะเมล็ด
การปลูก : ควรปลูกในดินร่วนที่มีอินทรียวัตถุสูง ระบายน้ำได้ดี ไม่ท่วมขัง ปลูกในที่ได้รับแสงแดดเต็มที่ตลอดทั้งวัน รดน้ำสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรให้มีน้ำท่วมขัง
สรรพคุณ : ในมะกรูดประกอบด้วยเบต้า-แคโรทีน วิตามินเอ วิตามินบี 2 วิตามินซี แคลเซียม และโปรตีน ใบมะกรูดแก้ไอ แก้เสมหะในลำคอ แก้อาเจียนเป็นโลหิต แก้ช้ำใน ช่วยขับระดู ขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียด ผิวมะกรูด แก้จุกเสียด ขับผายลม เป็นยาบำรุงหัวใจ แก้ลมวิ่งเวียน แก้ปวดศีรษะ ผลแก้เสมหะในลำคอ แก้เลือดออกตามไรฟัน ฟอกเลือดในสตรี ช่วยขับระดู ขับลมในลำไส้ แก้อาการท้องอืด แก้จุกเสียด กัดเถาดานในท้อง ถอนพิษผิดสำแดง ช่วยเจริญอาหาร น้ำมันจากผิวใช้สระผม ช่วยให้ผมสะอาด แก้คัน ช่วยป้องกันรังแค รักษาชันนะตุ ทำให้เส้นผมนิ่มสลวย ดกดำเป็นเงางาม

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง