มะหาด
ต้นมะหาดเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นพืชเศรษฐกิจที่ใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เนื่องจากสารสกัดจากแก่นมะหาดมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase และมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการสร้างเมลานิน จึงทำให้ผิวขาวขึ้นได้ จึงนิยมนำมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เสริมความงามต่างๆ ผลสุกของมะหาดมีรสหวานอมเปรี้ยวสามารถนำมารับประทานได้ นอกจากนี้ต้นมะหาดยังมีสรรพคุณด้านสมุนไพรใช้รักษาอาการต่างๆ ได้
ชื่อสามัญ : Monkeyjack, Lakoocha, Monkey Fruit
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Artocarpus lakoocha Roxb.
วงศ์ : MORACEAE
ชื่ออื่น : หาดขนุน ปวกหาด (ภาคเหนือ), หาด (ทั่วไป), ฮัด (ภาคตะวันตก), มะหาดใบใหญ่ (ตรัง), มะหาด (ภาคใต้), กาแย ตาแป ตาแปง (มลายู-นราธิวาส), เซยาสู้ (กะเหรี่ยง)
การแพร่กระจาย : มะหาดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของภูมิภาคเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ศรีลังกา และบังคลาเทศ แล้วแพร่กระจายพันธุ์ไปในเขตร้อนของประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา, มาเลเซีย เป็นต้น มักพบขึ้นทั่วไปในที่กึ่งโล่งแจ้งตามป่าดงดิบ ปาเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าหินปูน ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-1,800 เมตร สำหรับในประเทศไทยมักพบมะหาดมาก ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และทางภาคใต้ของประเทศไทย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ต้นมะหาดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลาตั้งตรง สูงประมาณ 15-25 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลอมแดงถึงน้ำตาลเข้ม ต้นแก่ผิวจะหยาบและแตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ มีน้ำยางสีขาวไหลซึม ทรงพุ่มกลมหนาทึบ ยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลออกแดงหนาแน่น ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงแบบสลับระนาบเดียว ลักษณะใบเป็นรูปไข่หรือรูปขอบขนาน ขนาดกว้างประมาณ 15-20 เซนติเมตร ยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร ปลายใบมนหรือมีติ่งแหลมสั้นๆ โคนใบเว้ามนหรือแหลมกว้าง อาจเบี้ยวไม่สมมาตร ขอบใบเรียบหรือมีซี่จักเล็กน้อย ใบแก่สีเขียวเข้ม เหนียวคล้ายหนัง ด้านบนมีขนหยาบเล็กน้อย ด้านล่างสีเขียวอมเทา มีขนหยาบสีเหลืองเล็กน้อย เส้นใบข้าง 8-20 คู่ จรดกันที่ขอบใบ เส้นใบย่อยเห็นชัดเจนที่ด้านท้องใบ ก้านใบยาวประมาณ 1.4-3.3 เซนติเมตร มีขนแข็งสีเหลืองหนาแน่น มีหูใบเล็กบาง ขนาดประมาณ 4-5 เซนติเมตร รูปหอกซึ่งหลุดร่วงเร็วและมีขนปกคลุมหนาแน่น กิ่งก้านค่อนข้างอ่อน อ้วน หนาประมาณ 3-6 มิลลิเมตร ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจุก ช่อกลมแน่นสีเหลืองหม่นถึงชมพูอ่อน ดอกเป็นดอกแยกเพศในต้นเดียวกัน ช่อดอกตัวผู้กลม ช่อยาวประมาณ 0.8-2 เซนติเมตร ออกเป็นช่อเดี่ยวตามซอกหรือช่วงล่างของกิ่งก้าน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด กลีบเลี้ยงมี 2 พู ลึก เกสรตัวผู้จำนวนมาก ช่อดอกตัวเมียรูปไข่ หรือรูปขอบขนาน มีสีเหลืองอ่อน ออกตามกิ่งช่วงบน กว้าง 0.8-1.2 เซนติเมตร ยาว 1.2-2.3 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกหยัก ก้านช่อยาว 2.5-3.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง 4 กลีบ ผลสดมีเนื้อ เป็นผลรวมรูปร่างบิดเบี้ยว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5-8 เซนติเมตร ก้านผลยาว 1.2-3.8 เซนติเมตร สีเหลืองอ่อน หรือส้ม ผลแก่สีเหลืองปนน้ำตาล รูปร่างบิดเบี้ยวเป็นตะปุ่มตะป่ำ ผิวนอกมีขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ เนื้อในสีเหลืองเข้มถึงสีชมพู มีเมล็ดรูปขอบขนาน หรือเกือบกลม สีน้ำตาลเทา จำนวนมาก ขนาดประมาณ 1.2 เซนติเมตร
ฤดูออกดอก : ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ติดผลราวเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม
การขยายพันธุ์ : ต้นมะหาดสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะเมล็ดหรือการตอนกิ่ง แต่วิธีที่นิยมคือการเพาะเมล็ด
การปลูก : ต้นมะหาดสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด มีความทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดีมาก ชอบบริเวณที่มีความชื้นสูงและแสงแดดเข้าถึงได้น้อย
การใช้ประโยชน์ :
ผลสุกของต้นมะหาดมีรสหวานอมเปรี้ยวสามารถนำมารับประทานได้ ใยจากเปลือกต้นมะหาดมีความเหนียวสามารถนำมาใช้ทำเชือกได้ รากมะหาดสามารถนำมาสกัดเป็นสีสำหรับย้อมผ้าโดยจะให้สีเหลือง สำหรับเนื้อไม้มะหาดเป็นสีน้ำตาลแกมเหลืองอ่อน เสี้ยนสน เนื้อไม้หยาบ แข็ง มีความเหนียวและทนทาน สามารถนำมาใช้ทำเสา สร้างบ้าน หรือใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ได้ ต้นมะหาดยังมีสรรพคุณด้านสมุนไพร แก่นต้นมะหาดใช้ทำยาขับพยาธิตัวตืดและพยาธิไส้เดือน ใช้แก้ผื่นคัน ใช้แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้กษัย แก้เส้นเอ็นพิการ แก้เบื่ออาหาร แก้ลม ขับโลหิต ละลายเลือด ขับปัสสาวะ แก้ไข้ต่างๆ รากมะหาดใช้แก้ไข้ ขับพิษร้อนใน ขับพยาธิ แก้กษัยในเส้นเอ็น
ปัจจุบันมีการนำสารสกัดจากแก่นมะหาดมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงามต่างๆ เช่น ครีมมะหาด โลชั่นมะหาด เซรั่มมะหาด เนื่องจากสารสกัดจากแก่นมะหาดนั้นมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase และมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการสร้างเมลานิน จึงทำให้ผิวขาวขึ้นได้