ยมกปาฏิหาริย์
พรรษาที่ ๖ ทรงจำพรรษาที่เวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ สมัยนั้น เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์คนหนึ่งขึงตาข่ายในแม่น้ำคงคารอบบริเวณที่เล่นน้ำ วันหนึ่งมีปุ่มไม้จันทน์แดงขนาดใหญ่เท่าหม้อลอยน้ำมาติดตาข่าย เศรษฐีจึงให้นำไปกลึงเป็นบาตร แล้วใส่สาแหรกห้อยไว้ที่ปลายไม้ไผ่สูง ๖๐ ศอก ประกาศว่าถ้าใครเป็นพระอรหันต์ก็จงเหาะมาเอาบาตรใบนี้ไป
ครั้งนั้น ครูทั้งหกเจ้าลัทธิที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น คือ ท่านปูรณกัสสปะ อชิตเกสกัมพล นิครนถ์นาฏบุตร ปกุทธกัจจายนะ มักขลิโคสาล และสัญชัยเวลัฏฐบุตร เฝ้าเวียนกันไปหาเศรษฐีแสดงตนว่าเป็นพระอรหันต์ ขอให้เศรษฐีนำบาตรนั้นลงมาให้ แต่เศรษฐีบอกว่าถ้าท่านเป็นอรหันต์จริงก็เชิญท่านเหาะขึ้นไปนำบาตรลงมาเอง แต่ครูทั้งหกไม่มีใครเหาะได้
ผ่านไปเจ็ดวันแล้วยังไม่มีใครเหาะไปเอาบาตรลงมาได้ ชาวนครราชคฤห์จึงเริ่มโจษจันกันว่าพระอรหันต์ไม่มีในโลก
วันนั้น พระโมคคัลลานะและพระปิณโฑลภารทวาชะเข้าไปบิณฑบาตในนคร ได้ยินชาวเมืองพูดกันว่าพระอรหันต์ไม่มีในโลก พระโมคคัลลานะจึงบอกพระปิณโฑลภารทวาชะว่า คนพวกนี้พูดย่ำยีพระศาสนา ท่านก็มีฤทธิ์มากมีอานุภาพมาก ท่านจงไปเอาบาตรนั้นมาเถิด
พระภารทวาชะจึงแสดงปาฏิหาริย์ เอาปลายเท้าคีบหินใหญ่ขนาด ๑ คาวุต เหาะขึ้นไปในอากาศเวียนไปรอบพระนคร ชาวนครเห็นปาฏิหาริย์พระเถระดังนั้นต่างตกใจกลัวหินจะตกใส่ พากันหาสิ่งของมาบังศีรษะแล้ววิ่งเข้าที่หลบซ่อน
พระเถระเหาะรอบนครได้ ๗ รอบ จึงเหวี่ยงหินกลับไปตั้งที่เดิม แล้วแสดงตนให้มหาชนเห็น เศรษฐีเห็นแล้วจึงนิมนต์พระเถระมาที่เรือน สั่งให้คนนำบาตรไม้จันทน์แดงลงมาใส่ภัตตาหารคาวหวานจนเต็มบาตรถวายแก่พระเถระ พระเถระรับบาตรแล้วบ่ายหน้ากลับอาราม
มหาชนจำนวนมากได้ยินแต่ไม่ทันได้เห็นปาฏิหาริย์ของพระเถระ พากันเดินตามมาขอให้พระเถระแสดงปาฏิหาริย์อีก พระเถระก็แสดงปาฏิหาริย์ให้ชนเหล่านั้นดูแล้วกลับไปอาราม แต่มหาชนก็ยังห้อมล้อมส่งเสียงดังตามท่านไปจนถึงอาราม
พระศาสดาได้ยินเสียงมหาชน ทรงทราบว่าพระภารทวาชะแสดงปาฏิหาริย์ในที่สาธารณะ จึงประชุมสงฆ์ตำหนิว่าการแสดงปาฏิหาริย์ไม่ใช่กิจของสมณะ ทรงรับสั่งให้ทำลายบาตรไม้จันทน์แดงนั้นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้วให้นำไปบดทำเป็นยา และทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุแสดงปาฏิหาริย์สืบไป
พรรณไม้ในพุทธประวัติ
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงและรูปภาพจากเว็บไซต์
- ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=39613
- ลานพุทธศาสนา http://www.larnbuddhism.com/puttaprawat/
- มูลนิธิอุทยานธรรม https://uttayarndham.org
- ประตูสู่ธรรม http://www.dharma-gateway.com/buddha/buddha-history/buddha-history-index-page.htm
- กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช https://www.dnp.go.th