ยมหอม

ยมหอม

ต้นยมหอมเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ โตเร็ว มีการกระจายพันธุ์อยู่ในป่าดงดิบและป่าเบญจพรรณทั่วไป โดยเฉพาะภาคเหนือของประเทศไทย เนื้อไม้มีสีแดงอ่อนถึงสีอิฐแก่ เป็นมันเลื่อม มีกลิ่นหอม เสี้ยนตรงเนื้อไม้มีความเหนียว อ่อน ตกแต่งได้ง่ายและขัดชักเงาได้สวยงาม นิยมนำมาทำเฟอร์นิเจอร์และงานก่อสร้างบ้านเรือน นอกจากนี้ส่วนต่างๆ ของต้นยมหอมยังมีสรรพคุณทางสมุนไพรอีกด้วย

ชื่อสามัญ : Cigar-box, Indian mahogany, Moulmein cedar

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Toona ciliata M.Roem.

วงศ์ : MELIACEAE

ชื่ออื่น : ยมหอม (กลาง)

การแพร่กระจาย : ต้นยมหอมมีการกระจายพันธุ์อยู่ในป่าดงดิบและป่าเบญจพรรณทั่วไป โดยเฉพาะภาคเหนือของประเทศไทย และมักพบได้ตามแถบแม่น้ำ ลำธาร หรือหุบเขา ที่มีความชื้นสูง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

ต้นยมหอมเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงตั้งแต่ 15-35 เมตร ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดกลมแผ่กว้างค่อนข้างหนาแน่น เปลือกลำต้นสีเทาปนดำหรือสีน้ำตาลแตกออกเป็นร่องลึกตามความยาวของลำต้น เนื้อไม้มีสีแดงอ่อนถึงสีอิฐแก่ เป็นมันเลื่อม มีกลิ่นหอม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ช่อใบยาวประมาณ 25-70 เซนติเมตร ใบรูปขอบขนานแกมรูปหอก ออกตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย ใบกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 9-13 เซนติเมตร ปลายใบแหลมโคนใบเบี้ยว ใบเกลี้ยง บางใบมีขนกระจายบางๆ ขอบใบเรียบ ดอกออกเป็นช่อตามง่ามใบที่บริเวณปลายกิ่ง ช่อยาวห้อยลง แต่ละช่อยาวประมาณ 40-50 เซนติเมตร ดอกสีขาวอมเหลืองหรือสีขาวอมครีม มีกลิ่นหอม มีกลีบดอก 5 กลีบ ขนาดเล็ก รูปรีแกมขอบขนาน ผลมีรูปทรงรี กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-2 ซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว อุ้มน้ำ ผลแก่มีสีเหลือง และเมื่อแก่จัดผลจะแตกออก ภายในผลมีเมล็ดลูกยาวทรงรี โดยมีปีก 2 ข้างสามารถหลุดลอยไปตามสายลมไกลๆ ได้

ฤดูออกดอก : ต้นยมหอมออกดอกช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน และติดผลช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม

การขยายพันธุ์ : การขยายพันธุ์ต้นยมหอมนิยมใช้วิธีการเพาะเมล็ด โดยนำเมล็ดมาเพาะในกระบะทราย ให้น้ำวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น เมื่อกล้าไม้มีอายุ 1 ปีขึ้นไปจึงย้ายไปปลูกลงในแปลงต่อไป

การปลูก : การปลูกต้นยมหอมควรปลูกในดินร่วนที่มีอินทรียวัตถุ ระบายน้ำได้ดี ระยะเริ่มแรกควรรดน้ำให้ชุ่มทุกวันวันละ 1-2 ครั้ง หรือปลูกในช่วงต้นฤดูฝนจะทำให้ต้นยมหอมมีอัตราการเจริญเติบโตได้ดี

การใช้ประโยชน์ :

เนื้อไม้ยมหอมมีสีแดงอ่อนถึงสีอิฐแก่ เป็นมันเลื่อม มีกลิ่นหอม เสี้ยนตรงเนื้อไม้มีความเหนียว อ่อน ตกแต่งได้ง่ายและขัดชักเงาได้สวยงาม นิยมนำมาทำเฟอร์นิเจอร์และงานก่อสร้างบ้านเรือน เช่น ทำเป็นฝากระดาน ไม้วงกบ หน้าต่าง ไม้ฝ้าเพดาน ไม้บุผนัง ทำหีบใส่ของ เครื่องดนตรี อุปกรณ์กีฬา เป็นต้น นอกจากนี้ส่วนต่างๆ ของต้นยมหอมยังมีสรรพคุณทางสมุนไพร เช่น ยางที่ได้จากไม้ยมหอมใช้สำหรับสมานแผล รักษาแผล ห้ามเลือด ดอกและผลใช้ต้มแก้ไข้ และเป็นยาขับระดู เปลือกต้น เป็นยาฝาดสมาน ยาบำรุง ยาแก้มาลาเรีย ยาแก้ท้องผูก ยาแก้โรคบิด ใช้ภายนอกรักษาแผล และยังใช้เป็นสีย้อมให้สีเหลืองหรือแดง ใช้ย้อมผ้าฝ้าย ผ้าไหม

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง