รางจืด

รางจืด

รางจืด ไม้เลื้อยประดับ

ชื่อสามัญ : Laurel Clock Vine, Blue Trumpet Vine

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Thumbergia Laurifolia Linn.

วงศ์ : ACANTHACEAE

ชื่ออื่น : รางเย็น คาย (ยะลา), ดุเหว่า (ปัตตานี), ทิดพุด (นครศรีธรรมราช), ย่ำแย้ แอดแอ (เพชรบูรณ์), น้ำนอง (สระบุรี), จอลอดิเออ ซั้งกะ ปั้งกะล่ะ พอหน่อเตอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กำลังช้างเผือก ยาเขียว เครือเขาเขียว ขอบชะนาง (ภาคกลาง), ว่านรางจืด
ถิ่นกำเนิด : รางจืดมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนและเขตอบอุ่นของทวีปเอเชีย

ลักษณะทั่วไป :

ต้น รางจืดเป็นไม้เลื้อยหรือไม้เถาที่มีเนื้อแข็ง ลำต้นหรือเถากลมเป็นปล้อง เถาอ่อนมีสีเขียวสด เถาแก่จะเป็นสีน้ำตาล ลำต้นไม่มีขนและไม่มีมือจับ แต่อาศัยลำต้นในการพันรัดขึ้นไป

ใบ รางจืดเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ใบรูปขอบขนานหรือรูปไข่เรียวยาว ปลายใบเรียวแหลมเป็นติ่ง โคนใบเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบหรืออาจจะเป็นหยักตื้นๆ ห่างๆ ใบมีสีเขียว แผ่นใบเกลี้ยง หลังใบผิวเรียบมัน เนื้อใบบาง เส้นโคนใบมี 3-5 เส้น เส้นแขนงใบย่อยแบบร่างแหเห็นชัดเจน ใบกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-14 เซนติเมตร ก้านใบยาวประมาณ 6 เซนติเมตร

ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะห้อยลงมาตามซอกใบหรือตามข้อของลำต้น ช่อยาวประมาณ 30 เซนติเมตร แต่ละช่อมีดอกประมาณ 3-4 ดอก มีใบประดับสีเขียวประด้วยสีแดงหุ้มดอกอยู่ ดอกเป็นรูปแตร มีกลีบดอกขนาดใหญ่ 5 กลีบ ลักษณะกลมรีรูปไข่กว้าง ขนาดประมาณ 2-4 เซนติเมตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดใหญ่สั้นๆ บานออกช่วงปลาย ดอกมีสีม่วงอ่อน สีฟ้า หรือสีขาว ภายในดอกมีเกสรตัวผู้อยู่ 4 อัน ติดที่โคนหลอดกลีบ แยกเป็น 2 คู่ ไม่ยื่นเลยปากหลอดกลีบดอก ก้านเกสรตัวผู้ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร อับเรณูยาวเท่าๆ ก้านเกสรตัวผู้ จานฐานดอกรูปเบาะสูงประมาณ 3 มิลลิเมตร รังไข่รูปกรวยเกลี้ยง ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ก้านเกสรตัวเมียเรียวยาว ยาวกว่าเกสรตัวผู้ ยอดเกสรแผ่ออกคล้ายรูปแตร ก้านดอกยาว 1-3 เซนติเมตร ใบประดับย่อยหุ้มกลีบเลี้ยง รูปขอบขนาน ยาวได้ประมาณ 3 เซนติเมตร

ผลและเมล็ด ผลเป็นฝักกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ปลายฝักเป็นจะงอยแหลมคล้ายปากนก โคนฝักกลม ฝักยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร เมื่อแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลเกือบดำ แตกออกเป็น 2 ซีก มีเมล็ด 2 เมล็ด

ฤดูออกดอก : รางจืดจะออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำกิ่ง

การปลูก :

รางจืดควรปลูกริมรั้วหรือกำแพง เพื่อให้เถารางจืดสามารถยึดเกาะและเลื้อยพาดไปได้ ปลูกได้ในบริเวณที่มีแสงแดดปานกลางหรือที่มีแดดรำไร โดยให้นำเอากิ่งที่ได้จากการปักชำ การตอน หรือต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ดมาปลูกลงดิน โดยขุดหลุมปลูกมีความกว้างลึกประมาณ 30×30 เซนติเมตร แล้วรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักประมาณ 1/4 ของหลุม กลบดินเล็กน้อย วางกิ่งปลูกหรือตันกล้าลงกลางหลุม แล้วกลบดินให้แน่น รดน้ำให้ชุ่มในช่วงแรกของการปลูก

การดูแลรักษา :

แสง รางจืดเป็นไม้ที่ต้องการแสงแดดปานกลาง คือไม่ต้องการแสงแดดที่จัดมากจนเกินไป ในบริเวณที่มีแสงแดดรำไร หากมีเงาไม้อื่นมาบังบ้างก็ไม่เป็นไร

ดิน เป็นไม้ที่ขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด ไม่เลือกดินปลูก แต่ถ้าเป็นดินที่มีความร่วนซุยเก็บความชื้นได้บ้างก็จะเจริญงอกงามดี

น้ำ ต้องการน้ำปานกลาง ในระยะแรกปลูกต้องรดน้ำให้ดินมีความขึ้นอยู่ตลอดเวลา เมื่อต้นโตแล้วให้รดน้ำวันละ 1 ครั้ง ในตอนเช้า

ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก ใส่บริเวณรอบโคนต้นปีละ 2 ครั้ง ควรพรวนดินรอบโคนต้นให้ร่วนเสียก่อนใส่ปุ๋ย แล้วจึงรดน้ำตาม

โรคและแมลง ไม่มีโรคและแมลงที่สำคัญ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง