เขตบางแค

เขตบางแค

เขตบางแค ซึ่งเดิมทีละแวกแถบนี้เรียกกันทั่วไปว่า บางแค เป็นส่วนหนึ่งของอำเภอหนองแขม จังหวัดธนบุรี มีชื่อว่า ตำบลหลักหนึ่งภายหลังภายหลังเปลี่ยนเป็นตำบลบางแค ตามชื่อคลองสายหนึ่งที่ไหลผ่านพื้นที่และหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมคลองนั้น ต่อมาภายในปี 2472 สำนักนายกรัฐมนตรีได้ยุบอำเภอหนองแขมมาขึ้นกับอำเภอภาษีเจริญ แต่ในช่วงแรกตำบลบางแค ยังคงเป็นท้องที่ปกครองของกิ่งอำเภอหนองแขมอยู่ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2473 ทางการจึงโอนตำบลนี้มาขึ้นกับอำเภอภาษีเจริญโดยตรง เนื่องจากอยู่ใกล้กันและติดต่อกันได้สะดวกกว่า เมื่อมีผู้คนย้ายถิ่นเข้ามาอาศัยมากขึ้น ในปี พ.ศ.2498 กระทรวงมหาดไทยจึงจัดตั้งสุขาภิบาลบางแคขึ้น ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ ตำบลบางแค บางหว้า และบางด้วน เพื่อประโยชน์ในการทำนุบำรุงท้องถิ่น และขยายเขตออกไปในปี พ.ศ.2501 และ พ.ศ.2513 จนกระทั่งมีประกาศคณะปฏิวัติให้รวมจังหวัดธนบุรีกับจังหวัดพระนครเข้าด้วยกันเป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรีในปี พ.ศ.2514 และเปลี่ยนรูปแบบเป็นกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ.2515 โดยให้ยุบการปกครองท้องถิ่นรูปสุขาภิบาล รวมทั้งเปลี่ยนคำเรียกเขตการปกครองใหม่ ตำบลบางแคจึงเปลี่ยนฐานะเป็น แขวงบางแค ขึ้นกับเขตภาษีเจริญ ต่อมาพื้นที่ทางตะวันตกของเขตภาษีเจริญมีความเจริญและประชากรหนาแน่น

ในปี พ.ศ. 2538 กรุงเทพมหานครจึงได้ตั้งสำนักงานเขตภาษีเจริญ สาขา 1 เพื่อให้บริการประชาชนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในแขวงบางแค แขวงบางแคเหนือและแขวงบางไผ่ ในที่สุดจึงมีประกาศกระทรวงมหาดไทย แบ่งพื้นที่ในความดูแลของสำนักงานเขตภาษีเจริญ สาขา 1 รวมกับพื้นที่แขวงหลักสองของสำนักงานเขตหนองแขมมาจัดตั้งเป็นเขตบางแค เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2540 และในวันที่ 7 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ได้มีประกาศกรุงเทพมหานคร เปลี่ยนแปลงแนวเขตและพื้นที่แขวงทั้งชื่อของเขตบางแคใหม่เพื่อความชัดเจน และเป็นประโยชน์ด้านการปกครอง การบริหาร และการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ประกาศทั้ง 2 ฉบับ เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันเดียวกันคือวันที่ 6 มีนาคม 2541

“บางแค” มาจากคำว่า “บาง” หมายถึงทางน้ำเล็กๆ หรือทางน้ำที่ไหลขึ้นลงตามระดับน้ำในแม่น้ำลำคลองหรือทะเล และยังหมายถึงหมู่บ้านที่อยู่หรือเคยอยู่ในบริเวณที่เคยเป็นบางมาก่อน ส่วนคำว่า “แค” นั้น ในสมัยก่อนอาจมีชาวบ้านชาวสวนปลูกต้นแคไว้เป็นจำนวนมาก หรืออาจเป็นเพราะว่าในอดีตมีต้นแคขึ้นอยู่ทั่วไปในท้องที่นี้ จึงเป็นที่มาของชื่อ “บางแค” ปัจจุบันสำนักงานเขตบางแคจึงได้มีนโยบายปลูกต้นแคตามโครงการสร้างเอกลักษณ์เมืองด้วย

ต้นแค

ต้นแค ดอกแค บางแค
ชื่อสามัญ: Agasta, Sesban, Vegetable humming bird, Humming bird tree, Butterfly tree, Agati
ชื่อวิทยาศาสตร์: Sesbania grandiflora Desv.
วงศ์: FABACEAE – LEGUMINOSAE
ชื่ออื่นๆ: ดอกแค, แค, แคแกง (ทั่วไป), แคขาว, แคแดง, แคดอกขาว, ดอกแคแดง, แคดอกแดง (กรุงเทพ-เชียงใหม่), แค, แคบ้าน, ต้นแค, แคบ้านดอกแดง, ดอกแคบ้าน (ภาคกลาง)
ลักษณะทั่วไป: ต้นแคเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 3-10 เมตร เป็นไม้เนื้ออ่อน โตเร็วและมีกิ่งก้านสาขามาก สามารถปลูกได้ทุกที่ เปลือกเป็นสีเทามีรอยขรุขระหนา ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ มีใบย่อยขนาดเล็กรูปขอบขนาน ปลายใบมนกว้าง ขอบใบและแผ่นใบเรียบ ใบสีเขียวกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ออกเรียงเป็นคู่ 30–50 ใบ ขนานกัน ดอกมีลักษณะคล้ายดอกถั่วฝักยาว ออกเป็นช่อ แต่ละช่อมีดอกประมาณ 2-4 ดอก ดอกมีสีขาวหรือสีแดง ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ และมีความยาวดอก 6-10 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงเป็นรูประฆังหรือรูปถ้วย ผลเป็นฝักสีเขียวอ่อนแบนยาว ประมาณ 8-15 เซนติเมตร ฝักเมื่อแก่จะแตกออกออกเป็น 2 ซีก และภายในมีเมล็ดแคอยู่มาก เมล็ดกลมแป้น สีน้ำตาล มีหลายเมล็ด ต้นแคมีอายุราว 20 ปี แต่ถ้าเก็บใบกินบ่อยๆ จะแตกใบอ่อนบ่อยครั้งและต้นจะมีอายุสั้น
ถิ่นกำเนิด: แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศอินโดนีเชีย มาเลเซีย ในประเทศไทยพบได้ทุกภาคของประเทศไทย
การขยายพันธุ์: โดยการเพาะเมล็ด
ประโยชน์: คนไทยทั่วทุกภาคนิยมนำส่วนต่างของต้นแคมาทำอาหาร เช่น ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกแค และฝักอ่อน นิยมลวกน้ำร้อนใช้กินร่วมกับน้ำพริกต่างๆ ดอกอ่อนนำไปปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่น แกงส้มดอกแค แกงจืดดอกแค ดอกแคผัดหมูหรือกุ้ง และดอกแคชุบแป้งทอดกินกับน้ำพริก ทั้งนี้มักจะเอา เกสรตัวผู้ออกจากดอกแคก่อนใช้ประกอบอาหารเพื่อลดความขม
นอกจากนี้ยังนำส่วนต่างๆ มาใช้ประโยชน์อีกเช่น ใบมีโปรตีนอยู่มากจึงนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยงโค กระบือ ลำต้นนำมาใช้ในการเพาะเลี้ยงเห็ดหูหนูหรือใช้ทำฟีน แคเป็นพืชตระกูลถั่วชนิดหนึ่งที่มีจุลินทรีย์ทีปมรากและเมื่อจับก๊าซไนโตรเจนในอากาศผลิตเป็นปุ๋ยที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้ แคจึงเป็นพืชช่วยปรับปรุงดินได้ และสำหรับสรรพคุณทางยานั้นตามตำราไทยระบุว่า เปลือกต้น ช่วยคุมธาตุในร่างกาย ช่วยแก้อาการปวดฟัน รำมะนาด แก้บิด มูลเลือด แก้ท้องเดิน ท้องร่วง ดอก ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ช่วยป้องกันและรักษาอาการหวัดแก้ไข้หัวลม แก้ปวด ลดไข้ ดอก, ยอดอ่อน ช่วยบำรุงและเสริมสร้างกระดูกและฟันยอดอ่อน ใช้รับประทานแก้อาการปวดศีรษะข้างเดียวใบ ช่วยให้ระบาย แก้ฟกช้ำ แก้มูกเลือด บิดมีตัว ท้องร่วง ลดไข้


ชื่อบางกับพรรณไม้

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง