เสวยวิมุติสุข-ทรงขับนางมาร

เสวยวิมุติสุข-ทรงขับนางมาร

เสวยวิมุติสุข ทรงขับนางมาร พรรณไม้ในพุทธประวัติ ต้นไม้ในพุทธประวัติ

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ก็ทรงประทับเสวยวิมุติสุขบนรัตนบัลลังก์นั้น ๗ วัน แล้วเสด็จไปประทับอยู่ในทิศอิสานแห่งไม้มหาโพธิ์ จ้องพระเนตรดูไม้มหาโพธิ์ถึง ๗ วัน จากนั้นทรงนิมิตรัตนจงกรมเจดีย์ เสด็จจงกรมในทิศอุดรแห่งไม้มหาโพธิ์ อีก ๗ วัน ต่อจากนั้นก็เสด็จไปประทับนั่งยังรัตนะฆระเจดีย์ เรือนแก้ว ในทิศพายัพแห่งไม้มหาโพธิ์ ซึ่งเทพยดานิมิตถวาย ทรงพิจารณาพระอภิธรรมปิฎกตลอด ๗ วัน ต่อจากนั้นจึงเสด็จไปประทับยังควงไม้อชปาลนิโครธ (ต้นไทรนิโครธ)

ในลำดับนั้น ธิดาของพญามารวัสวดี อันได้แก่ นางราคะ นางตัณหา และนางอรดี อาสาผู้เป็นบิดาเพื่อมาทำลายซึ่งตบะเดชะสมเด็จพระสัพพัญญู ทั้ง ๓ นางต่างใช้เล่ห์แห่งอิตถีมายา นิรมิตร่างเป็นสตรีสวยงามในวัยต่างๆ ตลอดจนแสดงลีลาฟ้อนรำขับร้อง หมายโลมเล้าให้พระพุทธองค์เกิดความหวั่นไหวในอำนาจแห่งตัณหา แต่พระผู้มีพระภาคเจ้ากลับมิได้เอาพระทัยใส่และมิได้ลืมพระเนตรขึ้นทัศนาการ กลับขับไล่ธิดาพญามารทั้ง ๓ ให้หลีกไปด้วยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ปราศจากกิเลสตัณหาโดยสิ้นแล้ว ธิดาพญามารทั้ง ๓ เมื่อได้สดับจึงปรารภว่าพญามารผู้เป็นบิดากล่าวเตือนไว้ถูกต้องแล้ว อันพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีบุคคลผู้ใดในโลกจะชักนำไปสู่อำนาจแห่งตนได้โดยแท้ แล้วต่างพากันกลับไปสำนักแห่งพญามารวัสวดี

เมื่อครบ ๗ วัน ทรงออกจากสมาธิ เสด็จจากควงไม้อชปาลนิโครธ ไปเสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้มุจลินท์ (ต้นจิก) ตลอด ๗ วัน มุจลินท์นาคราชได้แวดวงพระกายพระผู้มีพระภาคด้วยขนด ๗ รอบ แผ่พังพานใหญ่เหนือพระเศียร เพื่อป้องกันฝนและลมหนาว ทรงแสดงธรรมแก่มุจลินท์นาคราชว่า ความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้สันโดษ มีธรรมปรากฏแล้วเห็นอยู่ ความไม่พยาบาทคือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย เป็นสุขในโลก ความปราศจากกำหนัด คือความล่วงกามทั้งหลายเสียได้ เป็นสุขในโลก การกำจัดอัสมิมานะเสียได้ เป็นสุขอย่างยิ่ง


พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงและรูปภาพจากเว็บไซต์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง