กระชาย (Fingerroot)

กระชาย (Fingerroot)

กระชาย เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีลำต้นอยู่ใต้ดินเรียกว่า เหง้า นำมาใช้ประโยชน์เป็นเครื่องเทศ นิยมใช้ใส่ในอาหารประเภทแกงที่ใช้เนื้อสัตว์กลิ่นคาวเป็นส่วนประกอบ เพื่อใช้ดับกลิ่นคาว เช่น ปลา เนื้อวัว หรือใช้เป็นเครื่องปรุงเพิ่มความหอมในอาหาร เช่น ใส่ในผัดเผ็ด แกงป่า ทำเป็นน้ำยาของขนมจีนน้ำยา กระชายมีสรรพคุณแก้โรคในปาก เช่นปากเปื่อย ปากเป็นแผล ปากแห้ง ขับระดูขาว ขับปัสสาวะ รักษาโรคบิด แก้ปวดมวนท้อง กระขายยังอุดมด้วยวิตามินเอ วิตามินบี12 และแคลเซียม

กระชาย (Fingerroot) พืชเครื่องเทศ
ชื่อสามัญ : Fingerroot
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Boesenbergia rotunda (L.) Mansf.
วงศ์ : ZINGIBERACEAE
ชื่ออื่น : กะแอน จี๊ปู ซีฟู เปาซอเร๊าะ เป๊าสี่ระแอน ว่านพระอาทิตย์
ถิ่นกำเนิด : มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะทั่วไป : กระชายเป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี สูงประมาณ 50-100 เซนติเมตร มีลำต้นเป็นเหง้าสั้นๆ อยู่ใต้ดิน ซึ่งแตกรากออกไปเป็นกระจุกจำนวนมาก อวบน้ำ ตรงกลางพองกว้างกว่าส่วนหัวและท้าย ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับเป็นระนาบเดียวกัน ใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้างประมาณ 4.5-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 13-15 เซนติเมตร ตรงกลางด้านในของก้านใบมีร่องลึก ดอกและช่อดอกออกแทรกอยู่ระหว่างกาบใบที่โคนต้น กลีบดอกสีขาวหรือชมพูอ่อน ใบประดับรูปใบหอกสีม่วงแดง ดอกย่อยบานครั้งละ 1 ดอก
การขยายพันธุ์ : โดยการแยกหน่อหรือปักชำเหง้า
การปลูก : ปลูกในดินร่วนที่อุดมสมบูรณ์ มีการระบายน้ำได้ดีไม่ท่วมขัง ปลูกในที่มีร่มเงารำไรแต่ในที่โล่งแจ้งก็สามารถปลูกได้ รดน้ำทุก 2–3 วัน
สรรพคุณ : ตำรายาไทยใช้เหง้าแก้โรคในปากเช่นปากเปื่อย ปากเป็นแผล ปากแห้ง ขับระดูขาว ขับปัสสาวะ รักษาโรคบิด แก้ปวดมวนท้อง จากการทดลองในสารสกัดแอลกอฮอล์และคลอโรฟอร์ม พบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังและในปากได้ดีพอควร

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง