หญ้าแพรก พรรณไม้ในพุทธประวัติ
หญ้าแพรก ในพุทธประวัติกล่าวว่า ก่อนที่พระสิทธัตถะจะสำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณ ได้ทรงพระสุบินว่า หญ้าแพรกต้นหนึ่งงอกจากพระนาภี (สะดือ) สูงขึ้นไปจนถึงท้องฟ้า ซึ่งทำนายว่าการที่หญ้าแพรกงอกจากพระนาภี สูงขึ้นไปจนถึงท้องฟ้า เป็นบรรพนิมิตที่เจ้าชายสิทธัตถะจะได้ทรงประกาศสัจธรรม เผยมรรคผลนิพพานแก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งมวล
ชื่อพื้นเมือง: หญ้าแผด (ภาคเหนือ), หญ้าเป็ด (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), หนอเก่เค (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ทิซั่วเช่า (จีน)
ชื่อบาลี: สทฺทล (สัด-ทะ-ละ), สทฺทโล (สัด-ทะ-โล), หริต (หะ-ริ-ตะ)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Cynodon dactylon Pers.
ชื่อสามัญ: Bermuda grass, Bahama grass, Dub grass, Florida grass, Scutch grass, Lawn grass, Dog’s tooth grass
ชื่อวงศ์: POACEAE
ถิ่นกำเนิด: ประเทศในแถบเอเชียและยุโรป
สภาพนิเวศน์: เจริญเติบเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด ต้องการความชื้นในปริมาณค่อนข้างมาก ทนน้ำท่วมขังและสามารถขึ้นได้ในดินเค็ม มักพบขึ้นเองตามที่รกร้างและที่โล่งทั่วไป
ลักษณะทั่วไป: หญ้าแพรก เป็นต้นหญ้าขนาดเล็ก มีอายุหลายปี ลำต้นแตกกิ่งก้านเจริญเติบโตแบบแผ่ราบไปตามพื้นดินหรือเลื้อยปกคลุมดินไปได้ยาวประมาณ 1 เมตร ลำต้นชูตั้งขึ้นสูงประมาณ 10-30 เซนติเมตร ลำต้นเป็นข้อปล้องและมีรากงอกออกมาตามข้อ ใบเป็นใบเดี่ยวขนาดเล็ก ออกตรงข้ามกันตามข้อของลำต้น ใบรูปใบหอกยาวเรียว ปลายใบแหลม โคนใบมีขนสั้นๆ สีขาวก่อนถึงส่วนที่หุ้มรอบข้อ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1-6 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อกระจะ ในช่อหนึ่งมีช่อย่อยอยู่ประมาณ 3-6 ช่อย่อย ก้านช่อดอกร่วมยาวประมาณ 1.5-5 เซนติเมตร ช่อดอกย่อยมีลักษณะเป็นเส้นสีเขียวเทาถึงสีม่วง ยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร มีดอกย่อยเรียงกันเป็นแถว 2 แถว ดอกย่อยยาวประมาณ 1.5-3 มิลลิเมตร อัดกันแน่นอยู่บนด้านหนึ่งของก้านดอกย่อย ดอกมีเกสรเพศผู้ 3 อัน มีอับเรณูสีม่วงยาว 1.1-5 มิลลิเมตร รังไข่มีก้านเกสรเพศเมีย 2 เส้น ปลายเป็นฝอยลักษณะคล้ายขนนก ออกดอกตลอดทั้งปี ผลหรือเมล็ดมีขนาดเล็กมาก ลักษณะเป็นรูปไข่ สีน้ำตาลไปจนสีแดง ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร
การขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด กิ่ง ราก และแตกลำต้นไปตามพื้นดิน
ประโยชน์: ยาต้มของต้นหญ้าแพรกมีรสขม ชุ่มเล็กน้อย เป็นยาแก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ลมชัก ช่วยขับลม แก้ท้องเสีย ทั้งต้นนำมาตำกับเหล้าใช้เป็นยาพอกทาแก้พิษอักเสบ ปวดบวม ยาต้มของรากใช้ขับปัสสาวะ ช่วยแก้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
พรรณไม้ในพุทธประวัติ
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงและรูปภาพจากเว็บไซต์
- ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=39613
- ลานพุทธศาสนา http://www.larnbuddhism.com/puttaprawat/
- มูลนิธิอุทยานธรรม https://uttayarndham.org
- ประตูสู่ธรรม http://www.dharma-gateway.com/buddha/buddha-history/buddha-history-index-page.htm
- กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช https://www.dnp.go.th