โนรา
ชื่อสามัญ : Hiptage
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hiptage benghalensis
วงศ์ : MALPIGHIACEAE
ชื่ออื่น : สะเลา (เชียงใหม่), พญาช้างเผือก (แพร่), กำลังช้างเผือก (ภาคเหนือ), แหนปีก (ภาคอีสาน), กะลังจ่าง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) มโนรา
ถิ่นกำเนิด : ประเทศอินเดีย จีน มาเลเซีย รวมถึงประเทศไทย ซึ่งในประเทศไทยจะพบได้ทุกภาค
ลักษณะทั่วไป :
ต้น โนราเป็นพรรณไม้กึ่งเลื้อย มีเถาใหญ่ เนื้อไม้แข็ง แตกกิ่งก้านสาขามาก สามารถเลื้อยไปได้ไกลและรวดเร็ว แต่ถ้าปลูกโนราไว้กลางแจ้งก็อาจจะกลายเป็นไม้พุ่มหรือไม่ก็จะขดเป็นพุ่ม เถาโนรามีสีเขียว กลมและเกลี้ยง
ใบ เป็นไม้ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงข้ามกันตามกิ่งก้านของเถา ใบอ่อนมีสีเทา ใบแก่สีเขียวเข้ม ลักษณะใบเป็นรูปขอบขนาน รูปไข่หรือรูปไข่กลับ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ส่วนท้องใบมีขน มีต่อมนูนเล็กๆ อยู่ใกล้ฐานใบอยู่ 2 ต่อม ใบกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร
ดอก โนราออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ดอกมีสีขาว หรือสีขาวอมชมพูเรื่อๆ ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบหนึ่งมีต่อมนูน มีกลีบดอก 5 กลีบ และแต่ละกลีบมีขนาดไม่เท่ากัน มีกลีบใหญ่อยู่ในสุด และจะมีสีเหลืองแต้ม กลีบดอกมักจะยู่ยี่ ขอบกลีบดอกจักหรือเนินเป็นครุยมีเกสรตัวผู้ 10 อัน และมี 1 อัน ที่มีขนาดใหญ่กว่าอันอื่น ดอกโนรามีกลิ่นหอมคล้ายดอกส้มโอ ดอกจะบานอยู่ได้นานประมาณ 3-4 วัน ก็จะร่วง และจะมีดอกใหม่ทยอยบานอยู่เรื่อยๆ จึงดูว่ามันคงทน
ผลและเมล็ด ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวย ปลายแหลม มีปีก 3 ปีก ปีกกลางมีขนาดใหญ่ เมื่ออ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาล ผลแห้งไม่แตก
ฤดูออกดอก : โนราจะออกตอกประมาณเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์
การขยายพันธุ์ : โดยการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่ง แต่การตอนกิ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดเนื่องจากออกรากง่าย
การปลูก :
โดยการนำเอาตันกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ด หรือกิ่งที่ได้จากการตอนมาปลูกลงดิน โดยให้ขุดหลุมกว้างและลึกประมาณ 30×30 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก กลบดินเล็กน้อย แล้วจึงวางต้นกล้าหรือกิ่งปักชำลงกลางหลุม แล้วกลบดินพอมิด รดน้ำให้ชุ่ม
การดูแลรักษา :
แสง โนราเป็นไม้ในร่ม หรือร่มรำไร มีความต้องการแสงน้อย
ดิน เจริญงอกงามได้ดีในดินแทบทุกชนิด แต่ถ้าเป็นดินร่วนซุยที่อุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดีก็จะดียิ่งขึ้น
น้ำ โนราต้องการน้ำมาก ควรรดน้ำให้ดินมีความชื้นอย่างสม่ำเสมอ
ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ใส่บริเวณรอบโคนต้นปีละ 2-3 ครั้ง
โรคและแมลง ไม่มีปัญหาเรื่องโรคและแมลง