ตะเคียนหิน

ตะเคียนหิน

ต้นตะเคียนหินเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ กระจายพันธุ์ตามป่าดิบแล้งในประเทศแถบอินโดจีนและคาบสมุทรมลายู เป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดอำนาจเจริญ ต้นตะเคียนหินมีเนื้อไม้ที่ทนทานและแข็งแรงมาก เหมาะกับการนำมาใช้ประโยชน์ในที่กลางแจ้ง เช่น ใช้ทำเรือขุด เสา สะพาน หมอนรองรางรถไฟ และส่วนต่างๆ ของต้นตะเคียนหินยังใช้เป็นส่วนประกอบทำยารักษาโรคได้อีกด้วย

ชื่อสามัญ :

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hopea ferrea Heim.

วงศ์ : DIPTEROCARPACEAE

ชื่ออื่น : ตะเคียนทราย (ตราด ตรัง), ตะเคียนหิน (ภาคใต้), ตะเคียนหนู (นครราชสีมา), เหลาเตา (สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช)

การแพร่กระจาย : ขึ้นตามป่าดิบแล้งที่สูงจากระดับน้ำทะเล 100-350 เมตร และขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ตามที่ลาดเชิงเขาที่มีการระบายน้ำดี กระจายพันธุ์ในประเทศแถบอินโดจีนและคาบสมุทรมลายู ในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้พบขึ้นตามเขาหินปูนทั่วๆ ไป

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

ต้นตะเคียนหินเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูงประมาณ 15–30 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหรือรูปกรวยแหลม ในช่วงที่ผลิใบใหม่ๆ จะเห็นพุ่มเป็นสีแดงอ่อน เปลือกต้นสีน้ำตาลแก่ แตกล่อนเป็นสะเก็ด กิ่งอ่อนเรียบมีขนประปราย ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ ใบรูปหอกแกมรูปไข่ กว้างประมาณ 2.5–3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6–8.5 เซนติเมตร ปลายใบเรียวยาวคล้ายหาง โคนใบกลมมน ใบเกลี้ยงเป็นมันทั้งสองด้าน เนื้อใบค่อนข้างบาง มีเส้นแขนงใบ 8–10 คู่ ใบอ่อนสีแดงเรื่อๆ ใบแห้งสีเขียวอ่อน ก้านใบยาวประมาณ 1–1.3 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อแบบแยกแขนง ออกเป็นช่อสั้นๆ ตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็กสีขาวหรือสีขาวปนเหลืองอ่อน ดอกตูมกลมขนาดประมาณ 0.2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ปลายกลีบแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกมี 5 กลีบ จีบเวียนเป็นรูปกังหัน กลีบดอกยาวเป็นสองเท่าของกลีบเลี้ยง กลีบดอกด้านนอกมีขนนุ่ม ด้านในเกลี้ยง ก้านดอกสั้น มองไม่เห็น มีขนนุ่มทั่วไปตามก้านช่อดอก ผลเป็นผลแห้งไม่แตก มีเปลือกแข็ง เป็นรูปขอบขนาน ปลายเป็นติ่งแหลม มีขนประปราย กว้างประมาณ 0.3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.4 เซนติเมตร มีปีก 5 ปีก ปีกยาว 2 ปีก รูปขอบขนาน สีน้ำตาลดำ ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.2 เซนติเมตรเส้นปีกมี 8 เส้น ปีกสั้น 3 ปีก สั้นมากติดกับโคนผล

ฤดูออกดอก : ต้นตะเคียนหินออกดอกเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม และติดผลเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม

การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด โดยเด็ดปีกออกก่อนนำไปเพาะ

การปลูก : ต้นตะเคียนหินเป็นไม้กลางแจ้ง สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินแทบทุกชนิด แต่ดินที่เหมาะสมในการปลูกต้นตะเคียนหินคือดินร่วนปนทรายที่ระบายน้ำได้ดี ต้องการความชื้นปานกลาง

การใช้ประโยชน์ :

ต้นตะเคียนหินมีเนื้อไม้ที่ทนทานและแข็งแรงมาก เหมาะกับการนำมาใช้ประโยชน์ในที่กลางแจ้ง เช่น ใช้ทำเรือขุด เสา สะพาน หมอนรองรางรถไฟ และใช้ทำเครื่องเรือน การแปรรูปควรทำขณะที่ไม้ยังสดอยู่ ดอกใช้เข้ายาเป็นเกสรร้อยแปด ดอกใช้เข้ายาเป็นเกสรร้อยแปด น้ำต้มจากเปลือกใช้ล้างแผล ใช้ผสมกับเกลืออมป้องกันฟันผุ เนื้อไม้ชั้นในใช้เป็นส่วนประกอบทำยารักษาโรคเลือดลมไม่ปกติ แก้กระษัย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง