พฤกษ์

พฤกษ์

ต้นพฤกษ์เป็นต้นไม้พระราชทานประจำจังหวัดมหาสารคาม เป็นพืชพื้นบ้านดั้งเดิมของไทย ที่อยู่คู่คนไทยมานาน ถือเป็นไม้มงคล ยังถือเป็นไม้มงคลของไทย จึงนิยมนำมาปลูกเพื่อเสริมสิริมงคล ปลูกเป็นไม้ดอกประดับให้ความสวยงามและให้ร่มเงา ในอดีตคนไทยภาคกลางเรียกพฤกษ์ว่า “จามจุรี”หรือ “จามรี” อาจเป็นเพราะลักษณะดอกที่เป็นฝอย มีสีออกเหลืองๆ คล้ายกับเส้นขนจามรี (จามจุรี) ที่ใช้ในพิธีมงคลนั่นเอง และที่ได้ชื่อว่าก้ามปูนั้นก็เป็นเพราะว่าลักษณะตอนปลายของช่อใบนั้นมีความคล้ายก้ามปูทะเล จึงเรียกว่า “ต้นก้ามปู”

ชื่อสามัญ : Indian Walnut, Kokko, Siris

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Albizia lebbeck (Linn.) Benth.

วงศ์ : MIMOSOIDEAE

ชื่ออื่น : ซึก, ซิก, จามจุรี, กะซึก, ชุงรุ้ง, ก้ามปู, คะโก, จามรี (ภาคกลาง) มะขามโคก, มะรุมป่า (นครราชสีมา) ก้านฮุ้ง (ชัยภูมิ) ถ่อนนา (เลย) พญากะบุก (ปราจีน) จ๊าขาม (ภาคเหนือ) ตุ๊ด (ตาก) กรีด, แกร๊ะ (ภาคใต้) กาแซ, กาไม (สุราษฎร์ธานี)

การแพร่กระจาย : พฤกษ์มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนชื้นของทวีปเอเชีย ทวีปแอฟริกา รวมถึงประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลาว กัมพูชา เวียดนาม จีน อินโดนีเซีย และในไทยพบขึ้นกระจายพันธุ์อยู่ทุกภาคของประเทศ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

พฤกษ์เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดใหญ่ สูงประมาณ 15-25 เมตร เรือนยอดแผ่กว้างไม่สม่ำเสมอ กิ่งก้านใหญ่และบิดงอ เปลือกต้นสีน้ำตาลเข้ม มีรอยแตกเป็นร่องยาวตื้นๆ แต่หนาแน่น กิ่งก้านปกคลุมด้วยขนสั้นหนานุ่มหรือค่อนข้างเกลี้ยง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นเรียงสลับ กว้างประมาณ 15-18 เซนติเมตร ยาวประมาณ 22–30 เชนติเมตร ก้านใบยาว 5-8.5 เซนติเมตร หูใบขนาดเล็กมาก ร่วงง่าย ใบย่อยชั้นที่หนึ่งกว้างประมาณ 12-20 เชนติเมตร ยาวประมาณ 24-30 เชนติเมตร ก้านใบยาว 4-5 เชนติเมตร แกนกลางยาว 5-9.5 เชนติเมตร ประกอบด้วยใบย่อย 2-4 คู่ เรียงตรงข้าม ใบย่อยชั้นที่สอง กว้าง 6-9 เชนติเมตร ยาว 11-17 เชนติเมตร ก้านใบยาว 1.5-1.7 เชนติเมตร แกนกลางยาว 9-12 เชนติเมตร มีใบย่อยสุดท้าย 3-6 คู่เรียงตรงข้าม ขนาดยาว 2-5 เชนติเมตร กว้าง 1-3 เชนติเมตร ก้านใบย่อยสั้นมากหรือไม่มีก้าน แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ รูปขอบขนานแกมรูปหอก โคนใบเฉียง ปลายมน ขอบเรียบ ผิวใบด้านบนและด้านล่างปกคลุมด้วยขนสั้นนุ่ม ดอกออกเป็นช่อแบบช่อเชิงหลั่น ดอกย่อยมีก้านยาวไม่เท่ากัน เรียงสลับบนแกนกลาง ดอกย่อยด้านนอกช่อมีก้านยาวมากที่สุด ดอกย่อยถัดไปในช่อมีก้านสั้นลดหลั่นจนถึงกลางช่อ ก้านช่อยาวประมาณ 0.4-8.5 เซนติเมตร ปกคลุมด้วยขนสั้นประปราย ดอกย่อยสุดท้ายเป็นแบบช่อกระจุกแน่น เรียงอัดกันแน่นเป็นกระจุกกลม ไม่มีก้านดอก ช่อกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร ประกอบด้วย วงกลีบเลี้ยงรูปกรวยปลายหยักเป็นซี่ฟัน ปกคลุมด้วยขนสั้นประปราย และวงกลีบดอกรูปกรวยสีขาว ปลายแยกออกเป็น 5 แฉก แต่ละแฉกรูปไข่ ปลายแหลม มีขนประปราย ชั้นกลีบดอก 7.5-11 มิลลิเมตร เกสรตัวผู้จำนวนมาก ยาว 2-5 เซนติเมตร ปลายก้านชูเกสรตัวผู้สีเขียว เกสรตัวเมียจำนวน 1 อัน อยู่เหนือวงกลีบ ผลเป็นผลแบบฝักถั่ว ลักษณะแบนราบ รูปขอบขนาน ปลายฝักมนหรือเป็นติ่งหนาม ผิวฝักบางเกลี้ยง สีเหลืองอ่อน ขนาดฝักกว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 20-35 เซนติเมตร เมื่อแก่เต็มที่ฝักแตกจะแตกออก ภายในมีเมล็ด 5-12 เมล็ด

ฤดูออกดอก : ต้นพฤกษ์ออกดอกช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน และเป็นฝักช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม

การขยายพันธุ์ : ต้นพฤกษ์สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง

การปลูก : ต้นพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่เติบโตเร็วและทนทานต่อความแห้งแล้ง ปลูกได้ในดินทุกชนิด แต่ถ้าปลูกในดินร่วนและพื้นที่ที่สามารถระบายน้ำได้ดีไม่ท่วมขังก็จะทำให้ต้นพฤกษ์มีการเจริญเติบโตได้ดีขึ้น ควรปลูกต้นพฤกษ์ให้ได้รับแสงแดดอย่างเต็มวัน เพราะต้นพฤกษ์เป็นต้นที่ทนต่อแดดได้ดี

การใช้ประโยชน์ :

พฤกษ์เป็นต้นไม้โตเร็วและทนทาน เหมาะสำหรับปลูกในที่เสื่อมโทรมและแห้งแล้ง สามารถปรับปรุงสภาพดินให้สมบูรณ์ขึ้นได้ เนื่องจากเป็นพืชพวกถั่วซึ่งสามารถจับไนโตรเจนจากอากาศมาเปลี่ยนเป็นปุ๋ยไนเตรทได้ดี เนื้อไม้พฤกษ์เหนียว แข็งแรง ทนทานปานกลาง มีสีน้ำตาลอ่อนถึงแก่ ลายไม้สวย เป็นมัน เลื่อยไสกบได้ง่าย เหมาะในการนำมาใช้ทำสิ่งปลูก สร้าง เครื่องมือทางการเกษตร และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เปลือกให้น้ำฝาดใช้ฟอกหนัง เมล็ดและเปลือกมีรสฝาด เป็นยาสมาน เช่น รักษาแผลในปาก ในลำคอ เหงือกหรือฟันผุ ริดสีดวงทวารหนัก แก้ท้องร่วง ห้ามเลือดตกใน เมล็ดใช้รักษาโรคผิวหนัง รักษากลากเกลื้อน โรคเรื้อน ทำยารักษาเยื่อตาอักเสบ ใบใช้ดับพิษร้อน ทำให้เย็น

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง