กระซิก

กระซิก

ต้นกระซิกเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดสตูล พบกระจายพันธุ์ภาคใต้ เนื้อไม้มีลักษณะคล้ายไม้ชิงชัน นิยมนำมาใช้ทำเครื่องเรือน แกะสลัก เครื่องดนตรี เนื้อไม้ของต้นกระซิกมีสรรพคุณใช้เป็นยาแก้ไข้ น้ำมันจากเนื้อไม้ใช้รักษาแผลเรื้อรัง แก่นและรากมีกลิ่นหอมใช้ทำธูป

ชื่อสามัญ : Black Wood

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dalbergia parviflora Roxb.

วงศ์ : LEGUMINOSAE

ชื่ออื่น : กระซิก ซิก (ภาคใต้), ขรี ครี้ สรี้ (สุราษฎร์ธานี), สักขี (นราธิวาส)

การแพร่กระจาย : พบกระจายพันธุ์ตามป่าโปร่งในที่ลุ่ม และตามชายห้วยทางภาคใต้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

ต้นกระซิกเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เรือนยอดมีลักษณะไม่แน่นอน ลำต้นมีหนาม เปลือกสีเทา กิ่งอ่อนมีขนเล็กน้อย เมื่อแก่เกลี้ยง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ยาวประมาณ 10–20 เซนติเมตร ใบย่อยเรียงสลับกันบนก้านใบ มีใบย่อย 5–7 ใบ ดอกออกเป็นช่อตามปลายกิ่งหรือง่ามใบใกล้ปลายยอด ดอกมีขนาดเล็กและมีกลิ่นหอม ผลเป็นฝักแบน ขอบฝักบางคล้ายมีด ฝักแก่จะไม่แตกแยกจากกัน มีเมล็ดรูปไต 1-2 เมล็ด เรียงติดตามยาวของฝัก สีน้ำตาลอมแดง

ฤดูออกดอก : ออกดอกช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน

การขยายพันธุ์ : ต้นกระซิกขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

การปลูก : ต้นกระซิกปลูกขึ้นได้ในดินทุกชนิด เป็นไม้กลางแจ้ง ควรปลูกในที่ได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง

การใช้ประโยชน์ :

ต้นกระซิกมีเนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อนอมเหลือง เนื้อละเอียดปานกลาง ลักษณะคล้ายไม้ชิงชัน นิยมนำมาใช้ทำเครื่องเรือน แกะสลัก เครื่องดนตรี เนื้อไม้ของต้นกระซิกมีสรรพคุณใช้เป็นยาแก้ไข้ น้ำมันจากเนื้อไม้ใช้รักษาแผลเรื้อรัง แก่นและรากมีกลิ่นหอมใช้ทำธูป

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง