จามจุรี
ต้นจามจุรีเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดลำพูน คนไทยมีความเชื่อว่าต้นจามจุรีที่มีอายุมากกว่า 100 ปี หรือต้นจามจุรีที่มีขนาดใหญ่มีเทวดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยอารักขาสิงสถิตอยู่ ต้นจามจุรีเป็นต้นไม้ที่มีทรงพุ่มแผ่กว้างคล้ายร่ม จึงนิยมปลูกเพื่อให้ร่มเงาและความร่มรื่น เนื้อไม้ของต้นจามจุรีมีสีสวยงาม มีความแข็งแรง ทนทาน และเหนียวในระดับหนึ่ง นำมาแปรรูป ใช้ในการสร้างบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์ หรือทำเป็นเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ได้ดี นอกจากนี้ต้นจามจุรียังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ได้หลากหลาย
ชื่อสามัญ : East Indian Walnut, Rain Tree, Monkey Pod
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Samanea saman (Jacq.) Merr.
วงศ์ : MIMOSOIDEAE
ชื่ออื่น : ก้ามกราม (กลาง) ก้ามกุ้ง (กรุงเทพฯ, อุตรดิตถ์) ก้ามปู (กรุงเทพฯ, พิษณุโลก) จามจุรี (กรุงเทพฯ, ตราด) ฉำฉา (กลาง, เหนือ) ตุ๊ดตู่ (ตราด) ลัง, สารสา, สำสา (เหนือ)
การแพร่กระจาย : ต้นจามจุรีมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้ และแพร่กระจายพันธุ์ไปตามป่าเขตร้อนของทวีปเอเชีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้ประปรายในที่โล่งแจ้ง ในประเทศไทยนิยมปลูกทั่วไปตามสองข้างถนน ปลูกเป็นไม้ประดับ ให้ร่มเงาตามบ้าน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ต้นจามจุรีเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีอายุได้นานเป็นร้อยปี มีลำต้นสูงได้มากกว่า 25 เมตร ทรงพุ่มแผ่กว้างคล้ายร่ม แผ่ได้มากกว่า 25 เมตร โคนต้นเป็นพูพอนต่ำ ลำต้นค่อนข้างกลม ไม่สมมาตร เปลือกลำต้นสีน้ำตาลปนเทา มีรอยแตกตามยาว ขรุขระไม่เป็นระเบียบ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ปลายคู่ เรียงสลับ ประกอบด้วยก้านใบหลักและก้านใบย่อย โดยก้านใบหลักจะแทงออกบริเวณปลายกิ่ง เรียงสลับตรงข้ามกัน ก้านใบหลัก 1 ก้าน มีก้านใบย่อยประมาณ 4-6 คู่ แต่ละคู่อยู่ตรงข้ามกันบนก้านใบหลัก ก้านใบย่อยแต่ละคู่มีใบย่อยเรียงตรงข้ามกัน 2-10 คู่ โดยก้านใบย่อยคู่แรกจะมีจำนวนใบย่อยน้อยที่สุด ส่วนก้านใบย่อยคู่ถัดไปจะมีจำนวนใบย่อยมากกว่า ใบย่อยรูปไข่ รูปรีหรือคล้ายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ขนาดกว้างประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-5 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบบิดเบี้ยว ขอบใบเรียบ เส้นแขนงใบข้างละ 7-8 เส้น ผิวในด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างมีขนนุ่ม ใบแก่มีสีเขียวเข้ม สีเหลือง และสีน้ำตาลตามลำดับจนถึงระยะร่วงของใบ ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่น ออกเหนือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ช่อดอกรวมบานเต็มที่กว้างประมาณ 5-6 เซนติเมตร ดอกย่อยขนาดเล็กสีเหลืองปนเขียว มีกลีบเลี้ยง 7-8 กลีบ กลีบดอกสั้นเล็ก โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นถ้วย ปลายแยกออกเป็น 5 แฉกเป็นรูปแตร ดอกจามจุรีเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียในต้นเดียวกัน เมื่อดอกบานจะแตกก้านเกสรตัวผู้ยาวโผล่พ้นกลีบดอกออกมาให้เห็นจำนวนมาก เมื่อดอกบานเกสรมีสีขาว และเมื่อแก่ปลายเกสรจะมีสีชมพูสวยงาม ผลเป็นฝักแห้ง รูปทรงแบนยาว ขอบฝักเป็นแนวตรงเสมอกัน ลักษณะคล้ายฝักถั่ว ฝักอ่อนมีสีเขียว ฝักแก่มีสีน้ำตาลดำ ขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร มีเส้นสีเหลืองตามขอบ ร่องฝักนูนบริเวณที่มีเมล็ด ภายในฝักมีเนื้อนุ่มเหนียว และเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดแบนสีน้ำตาลเข้มปนดำเป็นมัน กว้างประมาณ 6 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร
ฤดูออกดอก : ออกดอกช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน เริ่มติดผลช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม
การขยายพันธุ์ : การขยายพันธุ์ต้นจามจุรีนิยมใช้วิธีการเพาะเมล็ด โดยเก็บฝักแก่มาแกะเอาเมล็ดออก นำเมล็ดห่อด้วยผ้าขาวแช่น้ำทิ้งไว้ 2 คืน ก่อนนำไปเพาะ
การปลูก : ต้นจามจุรีเป็นไม้ที่เจริญเติบโตค่อนข้างเร็ว ปลูกได้ในดินทุกชนิด แต่เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ต้องการน้ำปานกลาง-สูง ทนน้ำท่วมขังแฉะได้ เป็นไม้กลางแจ้ง ชอบพื้นที่ที่มีแสงแดดเต็มวัน
การใช้ประโยชน์ :
ต้นจามจุรีมีทรงพุ่มแผ่กว้าง ใบดก ให้ร่มเงาได้ดีมาก จึงนิยมปลูกเพื่อให้ร่มเงา เนื้อไม้มีสีสวยงาม มีความแข็งแรง ทนทาน นำมาแปรรูปเป็นไม้ก่อสร้างบ้าน ไม้ปูพื้น ไม้ฝ้า ไม้ผนัง คาน ขอบหน้าต่าง หน้าต่าง บานประตู ใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้หลายชนิด เช่น ทำโต๊ะ เก้าอี้ ตู้เสื้อผ้า เป็นต้น รวมถึงงานแกะสลักประเภทต่างๆ เนื่องจากมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ เมื่อขัดจะขึ้นเงามันงาม กิ่งอ่อนของต้นจามจุรีมีเยื่อเปลือกอ่อนจึงนิยมปลูกเพื่อเลี้ยงครั่ง ใบมีสารอาหารหลายชนิดนำมาเป็นอาหารสัตว์ ฝักแก่นำมาหมักเป็นเหล้าหรือผลิตแอลกอฮอล์ได้ เนื้อฝักใช้รับประทานเป็นอาหาร ให้รสหอมหวานมาก รวมถึงนำมาต้มหรือชงเป็นชาดื่มก็ได้ เปลือกต้นป่นละเอียดใช้เป็นยาสมานแผล เปลือกต้นและเมล็ดใช้รักษาอาการบิด ท้องเสีย ใบแก้ปวดแสบปวดร้อน เมล็ดแก้โรคผิวหนัง