วันเข้าพรรษา
ตักบาตรดอกไม้ด้วยดอกเข้าพรรษา
วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพุทธศาสนา คำว่า “เข้าพรรษา” แปลว่า “พักฝน” หมายถึง วันที่พระภิกษุสงฆ์อธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ วัดใดวัดหนึ่งหนึ่งตลอดช่วงฤดูฝน ซึ่งมีกำหนดระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น ตลอดช่วงฤดูฝนซึ่งมีกำหนดระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11
แต่เดิมในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติพระวินัยให้พระสงฆ์สาวกอยู่ประจำพรรษา แต่ด้วยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ต่อมาชาวบ้านได้พากันติเตียนว่า พวกสมณะศากยบุตรไม่ยอมหยุดสัญจรแม้ในฤดูฝน ในขณะที่พวกพ่อค้าและนักบวชในศาสนาอื่นๆ ต่างพากันหยุดสัญจรในช่วงฤดูฝน การที่พระภิกษุสงฆ์จาริกไปในที่ต่างๆ แม้ในฤดูฝนอาจเหยียบย่ำข้าวกล้าชาวบ้านได้รับความเสียหาย หรืออาจไปเหยียบย่ำโดนสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ออกหากินจนถึงแก่ความตาย เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องจึงได้วางระเบียบให้พระภิกษุสงฆ์เข้าอยู่ประจำที่ตลอดช่วงฤดูฝน ภิกษุสงฆ์ที่อธิษฐานเข้าพรรษาแล้วจะไปค้างแรมที่อื่นนอกเหนือจากอาวาส หรือที่อยู่ของตนไม่ได้แม้แต่คืนเดียว หากไปแล้วไม่สามารถกลับมาในเวลาที่กำหนด คือก่อนรุ่งสว่าง ถือว่าพระภิกษุรูปนั้นขาดพรรษา แต่หากมีกรณีจำเป็น 4 ประการต่อไปนี้ ภิกษุผู้อยู่พรรษาสามารถกระทำ สัตตาหกรณียะ คือ ไปค้างที่อื่นได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษา แต่ต้องกลับมาภายในระยะเวลา 7 วัน คือ
- ไปรักษาพยาบาลพระภิกษุ หรือ บิดามารดาที่เจ็บป่วย
- ไประงับไม่ให้พระภิกษุสึก
- ไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น ไปหาอุปกรณ์มาซ่อมแซมวัดซึ่งชำรุดในพรรษานั้น
- ทายกนิมนต์ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขา
ในการอธิษฐานเข้าพรรษา ณ วัดหรือที่ใดที่หนึ่ง หากมีเหตุจำเป็น 5 ประการต่อไปนี้ ภิกษุไม่ต้องอาบัติ แม้จะไปอยู่ที่อื่น ได้แก่
- ถูกสัตว์ร้ายรบกวน ถูกโจรปล้น วิหารถูกไฟไหม้ หรือถูกน้ำท่วม
- ชาวบ้านถูกโจรปล้น อพยพหนีไป อนุญาตให้ไปกับเขาได้ หรือชาวบ้านแตกเป็น 2 ฝ่าย ให้ไปกับฝ่ายที่มีศรัทธาเลื่อมใส
- ขาดแคลนอาหาร หรือยารักษาโรค
- มีผู้เอาทรัพย์มาล่อ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้หนีไปเสียให้พ้นได้
- ภิกษุสงฆ์แตกกันหรือมีผู้พยายามทำให้ภิกษุสงฆ์ในวัดแตกกัน ให้ไปเพื่อหาทางระงับได้
ประโยชน์ในการเข้าพรรษาของพระภิกษุ
- เป็นช่วงที่ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่นา หากภิกษุสงฆ์เดินทางจาริกไปในสถานที่ต่างๆ อาจไปเหยียบต้นกล้า หรือสัตว์เล็กสัตว์น้อยให้ได้รับความเสียหายล้มตาย
- หลังจากเดินทางจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลา 8-9 เดือน พระภิกษุสงฆ์จะได้หยุดพักผ่อน
- เป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสำหรับตนเอง และศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยตลอดจนเตรียมการสั่งสอนประชาชน เมื่อถึงวันออกพรรษา
- เพื่อจะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนและบวชให้กับกุลบุตรผู้มีอายุครบบวช อันเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป
- เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลเป็นการพิเศษ เช่น การทำบุญตักบาตรหล่อเทียนเข้าพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน รักษาศีล เจริญภาวนา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม งดเว้นอบายมุข และมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนาตลอดเวลาเข้าพรรษา
ความเป็นมาของประเพณีตักบาตรดอกไม้
ตามความเชื่อของชาวพุทธ การตักบาตรดอกไม้เป็นการสร้างอานิสงส์ที่สูงส่งอย่างยิ่ง โดยปรากฏตามพุทธตำนานว่า พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งกรุงราชคฤห์ ทรงโปรดปรานดอกมะลิมาก ในแต่ละวันจะรับสั่งให้นายมาลาการนำดอกมะลิสดมาถวายถึง วันละ 8 กำมือ วันหนึ่งขณะที่นายมาลาการกำลังเก็บดอกมะลิได้พบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์อีกจำนวนหนึ่งเสด็จออกบิณฑบาตร นายมาลาการสังเกตเห็นพรรณรังสีฉายประกายรอบๆ พระวรกาย ทำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาพระพุทธองค์อย่างยิ่ง นายมาลาการตัดสินใจนำดอกมะลิที่มีไปถวายแด่พระพุทธเจ้า พร้อมกันนั้นก็ตั้งจิตอธิษฐานว่าข้าวของทุกสิ่งที่พระเจ้าพิมพิสารทรงมอบให้เพียงเพื่อยังชีพในภพนี้เท่านั้น แต่การนำดอกไม้ถวายบูชาแก่พระพุทธองค์ สร้างอานิสงส์ได้ทั้งภพนี้และภพหน้า หากถูกประหารชีวิตเพราะไม่ได้ถวายดอกมะลิก็ยินยอม ครั้นภรรยานายมาลาทราบความ ก็เกรงกลัวว่าจะต้องโทษที่สามีไม่ปฏิบัติตามพระบัญชาของพระเจ้าพิมพิสาร ก็หลบหนีออกจากบ้านไป แต่หลังจากที่พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบกลับพอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก และได้ปูนบำเหน็จรางวัล ความดีความชอบแก่นายมาลาการ นับแต่นั้นมาชีวิตของนายมาลาการก็อยู่อย่างมีความสุข
ชาวอำเภอพระพุทธบาทได้ยึดถือประเพณีตักบาตรดอกไม้เป็นประเพณีสำคัญที่อยู่คู่กับวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหารมาช้านาน และปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นประจำทุกปี โดยกำหนดเอาวันเข้าพรรษาคือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปีเป็นวันประเพณีตักบาตรดอกไม้ ในวันนั้น หลังจากที่พระภิกษุสงฆ์เดินรับบิณฑบาตรจากพุทธศาสนิกชนแล้ว จะนำดอกไม้ไปสักการะ “รอยพระพุทธบาท” พระเจดีย์จุฬามณี อันเป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระเขี้ยวแก้วจำลองขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วนำไปสักการะพระเจดีย์มหาธาตุองค์ใหญ่ ซึ่งชาวพุทธถือว่าเป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ระหว่างที่พระภิกษุเดินลงจากพระมณฑปนั้น พุทธศาสนิกชนก็จะนำเอาน้ำสะอาดมาล้างเท้าพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งถือว่าน้ำที่ได้ชำระล้างเท้าให้พระภิกษุสงฆ์นั้นเสมือนหนึ่งได้ชำระล้างบาปของตนด้วย
ระหว่างวันเข้าพรรษาจะมีดอกไม้สีเหลืองชนิดหนึ่งขึ้นตามไหล่เขาโพธิ์ลังกาหรือเขาสุวรรณบรรพต เทือกเขาวง และเขาพุใกล้ๆ กับรอยพระพุทธบาท และเป็นดอกไม้ที่นิยมนำมาจัดเป็นช่อใส่บาตรดอกไม้ในวันเข้าพรรษา นอกจากจะออกดอกในช่วงวันเข้าพรรษาแล้ว ใบประดับที่ทั่วไปมักเข้าใจว่าเป็นกีบดอกจะมีสีขาวตรงกับสีของพุทธศาสนาและดอกที่มีสีเหลืองซึ่งตรงกับสีของพระสงฆ์อีกด้วย ชาวบ้านจึงเรียกชื่อดอกไม้ชนิดนี้ว่า “ดอกเข้าพรรษา”
ดอกเข้าพรรษา
ดอกเข้าพรรษา (Smithatris supraneanae W.J.Kress & K.Larsen) จัดเป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศไทย พบขึ้นตามธรรมชาติบริเวณที่มีหินปูนแถบจังหวัดสระบุรีและลพบุรี เป็นพืชในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE) เป็นไม้ล้มลุกสูงประมาณ 1-1.5 เมตร มีใบ 5-7 ใบ กาบใบสีเขียวอ่อน ก้านใบยาว แผ่นใบเรียบบางสีเขียวอ่อน รูปใบหอก ปลายใบเรียวกลม โคนใบสอบเรียว ใบตรงโคนต้นมีขนาดเล็กกว่า ช่อดอกออกที่ปลายต้น ก้านช่อดอกอาจยาวถึง 1 เมตร ทรงช่อคล้ายทรงกระบอกปลายโค้ง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-5 เซนติเมตร ใบประดับสีขาวหรือขาวอมชมพู เรียงซ้อนเหลื่อมกันเป็นวงแน่น แต่ละใบประดับมีดอกเดียว มีใบประดับย่อยยาว 5-6 มม. ผิวเรียบ กลีบเลี้ยงเชื่อมกันเป็นดอก ยาว 7-10 เซนติเมตร มีขนประปราย ปลายจักเป็น 3 ซี่ กลีบดอกเชื่อกันเป็นหลอดแคบเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 ซม. ปลายเว้าเป็นแฉกไม่เท่ากัน แฉกสีเหลืองยาวประมาณ 8-10 มม. แฉกหลังใหญ่กว่าหลอดกลีบดอก ตรงโคนแฉกผายออกเล็กน้อย กลีบปากสีเหลือง ปลายเว้าลึก 2 แฉก แต่ละแฉกปลายเว้าตื้นๆ โค้งพับลง เกสรตัวผู้ยาว 5 มม. มีสีเหลือง อับเรณูแบบติดกลางยอดเกสรตัวเมียสีขาวรูปกรวย ผลเป็นผลแห้งไม่แตก ยาวประมาณ 1-1.5 ซม. มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีน้ำตาล ดอกออกราวเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน
ปฏิทินพรรณไม้
- –
- –
- –
- –