มะขาม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Tamarindus indica Linn.
ชื่อวงศ์
Leguminosae
ชื่อท้องถิ่น
- ภาคกลาง เรียก มะขามไทย
- ภาคใต้ เรียก ขาม
- นครราชสีมา เรียก ตะลูบ
- กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี เรียก ม่วงโคล้ง
- เขมร-สุรินทร์ เรียก อำเปียล
ลักษณะทั่วไป
มะขามเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่แตกกิ่งก้านสาขามาก เปลือกต้นขรุขระและหนา สีน้ำตาลอ่อน ใบ เป็นใบประกอบ ใบเล็กออกตามกิ่งก้านใบเป็นคู่ ใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบและโคนใบมน ดอก ออกเป็น ช่อเล็กๆ ตามปลายกิ่ง หนึ่งช่อมี 10-15 ดอก ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอกสีเหลืองและมีจุดประสีแดงอยู่กลางดอก ผลเป็นฝักยาว รูปร่างยาวหรือโค้ง ยาว 3-20 ซม. ฝักอ่อนมีเปลือกสีเขียวอมเทา สีน้ำตาลเกรียม เนื้อในติดกับเปลือก เมื่อแก่ฝักเปลี่ยนเป็นเปลือกแข็งกรอบหักง่ายสีน้ำตาล เนื้อในกลายเป็นสีน้ำตาลหุ้มเมล็ด เนื้อมีรสเปรี้ยว และหวาน
การปลูก
มะขามขึ้นได้กับดินทุกชนิด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนในดินเหนียวทนแล้งได้ดี เหมาะที่จะปลูกในฤดูฝน ใช้กิ่งพันธุ์ปลูกโดยการขุดหลุมและใส่ปุ๋ยที่ก้นหลุมก่อน ดูแลรักษาเหมือนกับพืชโดยทั่วไป นิยมขยายพันธุ์โดยการทาบกิ่ง ติดตาหรือต่อกิ่งเพราะได้ผลเร็วและไม่ทำให้กลายพันธุ์
สรรพคุณทางยา
- ยาระบาย แก้อาการท้องผูก ใช้มะขามเปียกรสเปรี้ยว 10–20 ฝัก (หนัก 70–150 กรัม) จิ้มเกลือรับประทาน แล้วดื่มน้ำตามมากๆ หรือต้มน้ำใส่เกลือเล็กน้อยดื่มเป็นน้ำมะขาม
- ขับพยาธิไส้เดือน นำเอาเมล็ดแก่มาคั่ว แล้วกะเทาะเปลือกออก เอาเนื้อในเมล็ดไปแช่น้ำเกลือจนนุ่ม รับประทานครั้งละ 20-30 เม็ด
- ขับเสมหะ ใช้เนื้อในฝักแก่หรือมะขามเปียกจิ้มเกลือรับประทานพอสมควร
คุณค่าทางโภชนาการ
ยอดอ่อนและฝักอ่อนมีวิตามินเอ มาก มะขามเปียกรสเปรี้ยว ทำให้ชุ่มคอ ลดความร้อนของร่างกายได้ดี เนื้อในฝัก มะขามที่แก่จัด เรียกว่า มะขามเปียก ประกอบด้วยกรดอินทรีย์หลายตัว เช่น กรดทาร์ททาร์ริค กรดซิตริค เป็นต้น ทำให้ออกฤทธิ์ ระบายและลดความร้อนของร่างกายลงได้ แพทย์ไทยเชื่อว่ารสเปรี้ยวนี้จะกัดเสมหะให้ละลายได้ด้วย
คติความเชื่อ
ตามตำราพรหมชาติฉบับหลวง ถือว่ามะขามเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งที่ควรปลูกไว้ทางทิศตะวันตก (ประจิม) ของบ้าน เพื่อป้อง กันสิ่งไม่ดี ผีร้ายมิให้มากล้ำกลาย อีกทั้งต้นมะขามยังเป็นต้นไม้ที่มีชื่อเป็นมงคลนาม ถือกันเป็นเคล็ดว่าจะทำให้มีแต่คนเกรงขาม