ตะโกนา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Diospyros rhodcalyx Kurz
ชื่อวงศ์
EBENACEAE
ชื่อสามัญ
Ebony
ชื่อท้องถิ่น
- ทั่วไป เรียก ตะโกนา
- ภาคอีสาน เรียก โก
- นครราชสีมา เรียก นมงัว
- ภาคเหนือ เรียก มะโก
- เชียงใหม่ เรียก มะถ่าน ไฟผี พระยาช้างดำ
ลักษณะทั่วไป
ตะโกนาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 15 เมตร เปลือกสีดำแตกเป็นสะเก็ดหนา ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน รูปไข่กลับ สี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนกลาย โคนใบสอบเป็นรูปลิ่ม ป้อมหรือป้าน ปลายใบโค้งมน ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อเล็กๆ ตามง่ามใบช่อหนึ่งๆ มีประมาณ 3 ดอก มีขนนุ่ม ดอกเพศเมียออกเดี่ยวๆ ตามง่ามใบ มีขนนุ่ม ผลกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5–2.5 ซม. เมื่อยังอ่อนอยู่มีขนสีน้ำตาลแดง โคนและปลายผลบุ๋ม
การปลูก
ตะโกนาขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
สรรพคุณทางยา
- ลูก รสฝาดหวาน แก้ท้องร่วง แก้ตกเลือด แก้มวนท้อง ขับพยาธิ แก้กะษัย แก้ฝี และแผลเน่าเปื่อย
- เปลือกลูก รสฝาด เผาเป็นถ่านรสเย็น ขับระดูขาว และขับปัสสาวะ
- เปลือกต้น, เนื้อไม้ รสเฝื่อนฝาดขม บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร แก้มุตกิต ระดูขาว แก้รำมะนาด ปวดฟัน และเป็นยาอายุวัฒนะ
คติความเชื่อ
บางตำราว่าเป็นต้นไม้ที่ควรปลูกไว้ทางทิศใต้ (ทักษิณ) แต่ยังหาหลักฐานยืนยันไม่ได้แน่ชัด สันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะตะโกเป็นไม้ที่มีอายุยืน ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี จึงอยากให้ผู้อยู่อาศัยในบ้านมีความอดทนต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนดังตะโก