มะกรูด
ชื่อวิทยาศาสตร์
Citrus hystrix DC.
ชื่อวงศ์
RUTACEAE
ชื่อสามัญ
Leech Lime, Mauritius Papeda, Kaffir Lime, Porcupine Orange
ชื่อท้องถิ่น
- ภาคเหนือ เรียก มะขูด, มะขุน
- ภาคใต้ เรียก ส้มกรูด, ส้มมั่วผี
- เขมร เรียก โกร้ยเขียด
- กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน เรียก มะขู
ลักษณะทั่วไป
มะกรูดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก แตกกิ่งก้าน ลำต้นและกิ่งมีหนามแข็ง ใบเป็นใบประกอบที่มีใบย่อยใบเดียว สีเขียวหนา มีลักษณะคอดกิ่วที่กลางใบเป็นตอนๆ มีก้านแผ่ออกใหญ่เท่ากับแผ่นใบ ทำให้เห็นใบเป็น 2 ตอน ใบสีเขียวแก่ค่อนข้างหนา มีกลิ่นหอมมากเพราะมีต่อมน้ำมันอยู่ ดอกออกเป็นกระจุก 3–5 ดอก กลีบดอกสีขาว ร่วงง่าย ผล มีหลายแบบแล้วแต่พันธุ์ผลเล็กเท่ามะนาว ผิวขรุขระน้อยกว่าและไม่มีจุกที่หัว
การปลูก
มะกรูดปลูกได้ดีในดินทุกชนิด ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
สรรพคุณทางยา
- ผิวผลสดและผลแห้ง รสปร่า หอมร้อน สรรพคุณแก้ลมหน้ามืด แก้วิงเวียน บำรุงหัวใจ ขับลมลำไส้ ขับระดู
- ผล รสเปรี้ยว มีสรรพคุณเป็นยาขับเสมหะ แก้ไอ แก้น้ำลายเหนียว ฟอกโลหิต ใช้สระผมทำให้ผมดกดำ ขจัดรังแค
- ราก รสเย็นจืด แก้พิษฝีภายใน แก้เสมหะ แก้ลมจุกเสียด
- น้ำมะกรูด รสเปรี้ยว กัดเสมหะ ใช้ดองยามีสรรพคุณเป็นยาฟอกโลหิตสำหรับสตรี
- ใบ รสปร่าหอม แก้ไอ แก้อาเจียนเป็นโลหิต แก้ช้ำใน และดับกลิ่นคาว
คติความเชื่อ
มะกรูดเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งที่ควรปลูกไว้ในบริเวณบ้าน โดยกำหนดปลูกทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (พายัพ) เพื่อผู้อยู่อาศัยจะได้มีความสุข และในบางตำราว่าเป็นความเชื่อของคนบ้านป่า ที่เดินทางด้วยเกวียนเทียม โคหรือกระบือเมื่อได้กลิ่นสาบเสือจะหยุดเดิน เจ้าของจะต้องขูดผิวมะนาวหรือมะกรูด ป้ายจมูกให้ดับกลิ่นสาบเสือก่อน โค กระบือจึงจะเดินต่อไป ดังนั้นการเดินทางสมัยก่อนผ่านป่า ผู้เดินทางจึงมักจะพกพามะนาวและมะกรูดติดตัวไปด้วยเสมอ ในพิธีกรรมการทำน้ำมนต์เพื่อสะเดาะเคราะห์ สำหรับพรมหรืออาบผู้ป่วยใบมะกรูดเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะขาดไม่ได้ โดยใช้ร่วมกับใบส้มป่อย ใบเงินใบทอง ใบมะตูม หญ้าแพรก หมากผู้หมากเมีย ใบราชพฤกษ์ เชื่อกันว่าใบจากต้นไม้มงคลเหล่านี้จะช่วยปัดเป่าและบรรเทาเคราะห์โศกลงไปได้