มะเดื่อ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ficus racemosa Linn
ชื่อวงศ์
MORACEAE
ชื่อท้องถิ่น
- อุดรธานี-อีสาน เรียก หมากเดื่อ
- แม่ฮ่องสอน-กะเหรี่ยง เรียก กูแช
- ลำปาง เรียก มะเดื่อ
- ภาคกลาง เรียก มะเดื่ออุทุมพร มะเดื่อชุมพร มะเดื่อเกลี้ยง
- ภาคเหนือ-กลาง เรียก มะเดื่อ เดื่อเกลี้ยง
- ภาคใต้ เรียก เดื่อน้ำ
ลักษณะทั่วไป
มะเดื่อเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูงประมาณ 10–20 เมตร ลำต้นเกลี้ยงสีน้ำตาลหรือน้ำตาลปนเทา กิ่งอ่อนสีเขียว หรือสีเขียวในน้ำตาล กิ่งแก่มีสีน้ำตาลเกลี้ยง หรือมีขนปกคลุม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกแบบสลับ ใบบาง รูปไข่หรือรูปหอก ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ฐานใบมนหรือกลม ผิวใบเกลี้ยง หรือมีขน ไม่หลุดร่วงง่าย ดอกออกเป็นช่อ ช่อดอกมีก้านเกิดเป็นกลุ่มบนกิ่งสั้นๆ ที่แตกออกจากลำต้นและกิ่งขนาดใหญ่ ผลรูปกลมแป้นหรือรูปไข่ มีขน ออกเป็นกระจุกตามกิ่งและลำต้น เมื่อฉีกออกจะพบเกสรเล็กๆ อยู่ภายในผล ผลสุกมีสีแดง
การปลูก
มะเดื่อขึ้นในธรรมชาติบริเวณป่าดิบชื้น บริเวณริมแม่น้ำลำคลอง ริมลำธาร หรือปลูกตามบ้านและริมทาง พบได้ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด
สรรพคุณทางยา
- เปลือกต้น รสฝาด แก้ท้องร่วง ชะล้างบาดแผล สมานแผล แก้ประดง ผื่นคัน แก้ไข้ท้องเสีย ไข้รากสาดน้อยและแก้ธาตุพิการ
- ราก รสฝาดเย็น แก้ไข้ กระทุ้งพิษไข้ ถอนพิษไข้ และแก้ท้องร่วง
- ผล รสฝาดเย็น แก้ท้องร่วง และสมานแผล
- ผลสุก เป็นยาระบาย
คติความเชื่อ
มะเดื่อเป็นไม้ดั้งเดิมที่สัมพันธ์กับความเชื่อและประเพณีของคนไทย มะเดื่อเป็นไม้มงคลที่กำหนดปลูกในทิศอุดร(ทิศเหนือ) ได้มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาและกรุงศรีรัตนโกสินทร์ว่า มีการนำไม้มะเดื่ออุทุมพรมาทำเป็นพระที่นั่ง กระบวยตักน้ำมันเจิมถวาย และหม้อน้ำที่กษัตริย์ใช้ถวายน้ำทำด้วยไม้อุทุมพร ในพระราชพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์ มะเดื่อได้ถูกบันทึกไว้ในตำนานของชาวฮินดูว่าเป็นไม้มงคล และเป็นที่นับถือของคนไทย พม่า มอญ มาแต่โบราณ