กุ่มบก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Crateva religiosa ham.
ชื่อวงศ์
CAPPARIDACEAE
ชื่อท้องถิ่น
- ชลบุรี เรียก กุ่มบก
- เลย เรียก กุ่ม
- ภาคกลาง เรียก กุ่มบก
- เขมร เรียก ทะงัน
- อีสาน เรียก กะงัน, สะเบาถะงัน, ก่าม
ลักษณะทั่วไป
กุ่มบกเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ชอบขึ้นบริเวณป่าดอน ลักษณะลำต้นคล้ายต้นก้ามปูแผ่พุ่มกว้าง เปลือกต้นสีขาวหม่นๆ และหนา ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ แตกออกเป็นใบย่อย 3 ใบ ใบรูปรีหรือรูปไข่ ปลายใบมน ดอกออกเป็นช่อสีขาวอมเขียวแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือชมพูอ่อน ในดอกมีเกสรตัวผู้สีม่วงยื่นออกมาเป็นฝอยเล็กๆ กลีบในแบนป้าน 4 กลีบ เริ่มบานจะเป็นสีเขียวอ่อนเมื่อบานเต็มที่จะเป็นสีขาวนวลและค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง เมื่อออกดอกต้นกุ่มจะออกเต็มต้นสวยงาม และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ผลกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2–3.5 ซม. เปลือกมีจุดแต้มสีน้ำตาลอมแดง เมล็ดรูปคล้ายเกือกม้า รูปไต
การปลูก
ต้นกุ่มเป็นไม้ที่ขึ้นทั่วไปมีมากในภาคกลางและภาคใต้แถบจังหวัดระนอง ชุมพร กระบี่ และพังงา ขึ้นตามดินทราย ตามป่าผลัดใบ เขาหินปูน ต้นกุ่มขยายพันธุ์ได้หลายวิธี คือ เพาะเมล็ด ปักชำ และตอนกิ่ง
สรรพคุณทางยา
- ใบ รสร้อน ขับลม ฆ่าพยาธิ แก้กลากเกลื้อน และแก้ตะมอย
- ใบและเปลือกราก ใช้ทาถูนวดให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นมากๆ
- แก่น รสร้อน แก้ริดสีดวง
- เปลือกต้น รสร้อน เป็นยาขับลม แก้ปวดท้อง แก้ลงท้อง คุมธาตุ ขับผายลม แก้บวม บำรุงไฟธาตุ กระตุ้นลำไส้ให้ย่อยอาหาร บำรุงหัวใจ แก้โรคผิวหนัง ใช้เป็นยาระงับประสาทและยาบำรุง
คติความเชื่อ
คนไทยสมัยก่อนปลูกต้นกุ่มไว้เป็นอาหารและยารักษาโรค ต้นกุ่มนับเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกทางทิศตะวันตก (ประจิม) เชื่อว่าจะทำให้ครอบครัวมีฐานะเป็นกลุ่มเป็นก้อน ดังชื่อของต้นไม้