กุ่มน้ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Crateva magna DC
ชื่อวงศ์
CAPPARICADEAE
ชื่อท้องถิ่น
- สุพรรณ เรียก อำเภอ
- กะเหรี่ยง-ตะวันตก เรียก เหาะเถาะ
- พิจิตร,ปราจีนบุรี,อุดรธานี เรียก ผักกุ่ม
- มหาสารคาม เรียก ผักก่าม
- ภาคกลาง-ภาคตะวันตก เรียก กุ่มน้ำ
- ละว้า-เชียงใหม่ เรียก รอถะ
- พังงา-ระนอง เรียก ผักกุ่ม
- สงขลา,ชุมพร,ระนอง เรียก กุ่มน้ำ
ลักษณะทั่วไป
กุ่มน้ำเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ชอบขึ้นบริเวณริมตลิ่ง ใกล้น้ำจึงถูกเรียกว่า “กุ่มน้ำ” มีลำต้นคดงอและแตกกิ่งต่ำ ใบสีเขียงแตกออกเป็นใบย่อย 3 ใบ ตัวใบรูปหอก ขอบขนาน เช่นเดียวกับกุ่มบก แต่ใบแคบกว่า ปลายใบเรียวแหลม ดอกออกเป็นช่อกระจายตามยอดใบหรือซอกใบ เมื่อเริ่มออกดอกจะเป็นสีเขียวแล้วค่อยๆ กลายเป็นสีขาวหรือขามอมเหลือง เกสรตัวผู้สีม่วง ก่อนออกดอกจะผลัดใบ และผลิดอกพร้อมกับผลิใบใหม่ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ผลกลมรี สีนวล ผิวแข็ง ภายมีเมล็ดกลมๆ เล็กๆ สีน้ำตาลเข้มรูปเกือกม้าอยู่จำนวนมาก
การปลูก
ต้นกุ่มเป็นไม้ที่ขึ้นได้ทั่วไป มีมากในภาคกลางและภาคใต้แถบจังหวัดระนอง ชุมพร กระบี่ และพังงา พบทั่วไปตาม ริมแม่น้ำ ลำห้วยในป่า ลำคลอง โดยเฉพาะกุ่มบก ต้นกุ่มขยายพันธุ์ได้หลายวิธี คือ เพาะเมล็ด ปักชำ การตอนกิ่ง
สรรพคุณทางยา
- ราก รสร้อน แก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ
- ใบ รสขมหอม ขับเหงื่อ แก้ไข้ เจริญอาหาร ระบาย ขับพยาธิ แก้ปวดเส้น แก้โรคไขข้ออักเสบ
- ดอก รสเย็น แก้เจ็บตา และแก้เจ็บในคอ
- ลูก รสขม แก้ไข้
- เปลือกต้น รสร้อน แก้สะอึก ขับผายลม ขับเหงื่อ แก้กระษัย
คติความเชื่อ
คนไทยสมัยก่อนปลูกต้นกุ่มไว้เป็นอาหารและยารักษาโรค ต้นกุ่มนับเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งที่นิยมปลูก เชื่อว่าจะทำให้ครอบครัวมีฐานะ มีเงิน เป็นกลุ่มเป็นก้อนดังชื่อของต้นไม้