ไผ่สีสุก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Bambusa blumeana Schult
ชื่อวงศ์
GRAMINEAE
ชื่อท้องถิ่น
กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน เรียก ไผ่สีสุก สีสุก
ลักษณะทั่วไป
ไผ่สีสุกเป็นไม้ยืนต้นขึ้นเป็นกอหนาแน่น มีลำสูงใหญ่ บริเวณข้อกิ่งคล้ายหนามกิ่งและแขนงมีหนามแหลมคม ลักษณะลำต้นกลวง ลำต้นมีสีเขียวสด ผิวเป็นมัน ดอกออกเป็นช่อ ซึ่งส่วนมากไผ่อายุราว 30 ปี จึงจะมีดอกสักหนหนึ่ง หน่อมีขนาดใหญ่ มีกาบสีเหลืองห่อหุ้ม ขนที่หน่อเป็นสีน้ำตาลมีน้ำหนักประมาณ 2-5 กก.
การปลูก
ไผ่สีสุกขึ้นเองตามป่าราบและบนเขาสูงๆ ขยายพันธุ์ด้วยหน่อ ซึ่งจะแทงออกมาจากโคนต้น
สรรพคุณทางยา
- ใบมีรสขื่น เฝื่อน ใช้ขับและฟอกล้างโลหิตระดูที่เสีย แก้มดลูกอักเสบ และขับปัสสาวะ
- ตา มีรสเฝื่อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้พิษ
- ราก มีรสกร่อยเอียนเล็กน้อยใช้ขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ ขับนิ่ว
คติความเชื่อ
คนโบราณนิยมปลูกไผ่สีสุกไว้ทางทิศตะวันออก (บูรพา) ถือกันเป็นเคล็ดจากชื่อที่เรียกขานกันเอาว่าเป็นสิริมงคลแก่ตน ผู้เป็นเจ้าของและครอบครัวคือ สีสุก เป็นมงคลนามเพื่อให้เกิดความสุข ความเจริญ มีความสุขกายสบายใจทุกอย่างนั้นเอง