เทคนิคการปลูกเลี้ยงไม้ดัด

เทคนิคการปลูกเลี้ยงไม้ดัด

การขุดล้อมและการย้ายปลูกลงในกระถาง

การจะย้ายต้นไม้จากที่อยู่เดิมไปยังที่ใหม่ หรือย้ายจากดินลงปลูกในกระถางนั้น จะต้องขุดล้อมให้ไม้รู้สึกตัวและปรับตัวได้ก่อนจึงจะทำการย้าย โดยการขุดต้องค่อยๆ ขุดล้อมรอบๆ โคนต้นให้ห่างโดยรอบประมาณ 1 ฟุต ตัดรากให้เหลือรากแก้วและรากใหญ่ไว้ 1–2 ราก ส่วนรากฝอยให้คงอยู่ไว้ให้มากที่สุด ปล่อยทิ้งไว้ 5–6 เดือน หรือเมื่อเห็นว่าสามารถปรับตัวได้ แล้วจึงค่อยขุดตัดรากขึ้นมาโดยให้ดินเดิมติดมาด้วย หากจะย้ายลงกระถางก็เตรียมดินให้พร้อม แล้วย้ายลงปลูกได้เลย หากเป็นการขุดล้อมจากธรรมชาติ เพื่อมาทำไม้ดัดก็ให้ตัดกิ่งและรากที่ยาวเกินไปออก แล้วใช้ปูนแดงป้ายทาแผลที่ตัดทันที เพื่อป้องกันเชื้อราเข้าทำลาย จากนั้นใช้กระสอบ (หรือวัสดุอื่นที่ถ่ายเทอากาศได้) ชุบน้ำปิดคลุมส่วนดินและรากเอาไว้มัดให้แน่นแล้วจึงค่อยเคลื่อนย้าย โดยต้องใช้ความระมัดระวังอย่าให้กระเทือนมาก

เมื่อนำมาถึงที่ต้องการก็ให้นำไม้นั้นลงปลูกได้เลย โดยการขุดหลุมและเตรียมดินตามแต่ชนิดของพันธุ์ไว้ให้พร้อม และควรทำหลักปักยึดไว้ให้แน่น ดูแลรักษาระยะหนึ่งเมื่อต้นฟื้นตัว และแตกกิ่งก้านเจริญดีแล้ว จึงค่อยเริ่มลงมือดัดตามต้องการ

การย้ายปลูกนี้ควรใช้ความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการย้ายต้นที่ดัดไว้แล้ว หากไม่ใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างดี ไม้ที่เพียรดัดมาเป็นระยะเวลานานอาจตายได้

การปิดกระหม่อมทำหุ่นไม้ดัด

ไม้หุ่นที่ต้องทำการปิดกระหม่อมคือ ไม้วิชาเพราะมีลักษณะเป็นไม้ท่อนเดียว ทำได้โดยเลื่อยต้นตอสูงจากพื้นตามต้องการ รอจนเกิดกิ่งกระโดงแตกออกมาใต้บริเวณรอยตัด หากกิ่งแตกต่ำจากรอยตัดมาก ก็ให้ตัดหัวตอลดต่ำลงมาจนใกล้กิ่งกระโดง เมื่อกิ่งกระโดงยาวประมาณ 1 ฟุต จึงเริ่มทำการปิดกระหม่อมทำหุ่นโดยค่อยๆ โน้มกิ่งกระโดงให้มาทับผ่านหัวตอแล้วมัดด้วยเชือกหรือลวดยึดกับหลักให้แน่น คอยให้กิ่งกระโดงยาวออกไปเรื่อยๆ หมั่นริดยอดหรือกิ่งแขนงที่แตกขึ้นให้ออกจากกิ่งกระโดงและต้นตอ เพื่อให้กิ่งกระโดงโตเร็วขึ้น เมื่อกิ่งกระโดงเชื่อมปิดกระหม่อมได้เรียบร้อยแล้ว ให้ตัดกิ่งออกเหลือไว้เท่าที่ต้องการ เพื่อใช้กิ่งกระโดงนี้เป็นหุ่นเลี้ยงกิ่งแยกต่อไป

การตัดแต่งกิ่ง

การตัดแต่งกิ่งก้านหรือการบังคับให้แตกกิ่งก้านตามจุดที่ต้องการ เป็นสิ่งสำคัญในการทำไม้ดัดให้มีลักษณะเป็นไปตามแม่แบบ จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาเทคนิคต่างๆ ดังนี้

การดัดโค้งงอ เป็นการจัดกิ่งก้านให้ระยะห่างได้จังหวะช่องไฟที่สวยงาม ซึ่งทำได้ 2 วิธีคือ การใช้ก้อนหินหรือของหนักๆ ผูกเชือกห้อยไว้กับกิ่งที่ต้องการดัด โดยจะต้องเลือกน้ำหนักให้ดีหากเบาไปก็จะไม่สามารถบังคับกิ่งได้ แต่หากหนักไปอาจจะทำให้กิ่งหักได้เหมือนกัน อีกวิธีหนึ่งที่นิยมมากกว่าคือใช้ลวดพันลำต้นและกิ่งที่ต้องการดัดให้เป็นไปตามรูปทรงที่กำหนดไว้ สิ่งที่ต้องคำนึงในการพันลวดมีดังนี้

  • ขนาดของลวด จะต้องเหมาะสมกับลำต้นหรือกิ่งที่จะพัน เพราะหากลวดเล็กเกินไปจะบังคับให้กิ่งโค้งตามต้องการไม่ได้ หรือหากลวดขนาดใหญ่เกินไปก็จะแข็งทำให้พันลำบาก
  • การพัน เริ่มต้นพันที่ลำต้นแล้วพันวนไปตามกิ่งในลักษณะ 45 องศา ทิ้งระยะห่างพอประมาณอย่าให้หลวมไปเพราะจะทำให้ไม่สามารถบังคับกิ่งตามต้องการได้ แต่ก็อย่าให้แน่นจนเกินไปเพราะอาจทำให้กิ่งและลำต้นเกิดการเสียหายได้
  • การดูแลหลังการพันลวด เมื่อพันลวดเสร็จแล้วควรดัดอย่างเบามือ อย่าพยายามดัดหรือหักลำต้นจนเกินไป เพราะกิ่งอาจจะหักได้ เมื่อดัดเรียบร้อยแล้วควรทิ้งระยะไว้ประมาณ 3-4 เดือน เพื่อให้ไม้อยู่ตัว จึงค่อยเอาลวดออก หรือเมื่อเห็นว่ากิ่งมีรอยแผลจากการมัดให้รีบแก้ลวดออกแล้วพันใหม่ทันที

การดัดฉาก การดัดให้กิ่งไม้หักมุม หรือหักข้อศอก ให้ใช้มีดปาดส่วนของกิ่งด้านที่ต้องการหักมุมออก แล้วหักพับโดยใช้ลวดบังคับหรือใช้เชือกผูกยึด และใช้พลาสติกพันทับรอยปาดที่หักพับ โดยต้องแน่ใจว่าน้ำไม่เข้า ซึ่งจะทำให้รอยแผลสร้างเปลือกออกหุ้มได้เร็วขึ้น


การบังคับให้แตกกิ่ง หากต้องการให้แตกกิ่งบริเวณที่เป็นตาอยู่แล้ว ให้ใช้พลาสติกพันลำต้นและกิ่งให้มิด เว้นตรงตาที่ต้องการให้แตกกิ่งไว้ เมื่อตานั้นแตกกิ่งจะต้องรอให้กิ่งโตพอสมควรก่อน จึงเอาพลาสติกที่พันออก แต่หากต้องการให้แตกกิ่งบริเวณที่ไม่มีตา จะทำได้โดยใช้สว่านเจาะทะลุ แล้วนำกิ่งยอดจากต้นอื่น มาตัดกิ่งแขนงเล็กๆ รูดใบออกให้หมด นำกิ่งนั้นมาสอดให้ทะลุรูเจาะนั้น แล้วผูกยึดให้แน่น รอให้กิ่งที่สอดโตขึ้นมีเนื้อเยื่อ, ท่อน้ำนำอาหารเชื่อมประสานติดกันแน่น จึงค่อยตัดโคนกิ่งสอดให้ชิดกับกิ่งหุ่น แล้วเลี้ยงจนดูเป็นกิ่ง จากต้นหุ่นเดียวกัน

การทำช่อหรือพุ่มใบ

เมื่อจัดให้กิ่งอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปที่ต้องดูแลคือการทำช่อหรือพุ่มใบเพราะช่อหรือพุ่มใบ เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ไม้ดัดดูงาม ไม่แพ้รูปทรงของกิ่งก้านการทำช่อหรือพุ่มใบทำโดยตัดยอดของกิ่งออก ให้กิ่งนั้นแตกยอด และใบออกมามีใบเพสลาด (กิ่งอ่อนกิ่งแก่) และตัดยอดที่แตกออกมาใหม่อีกครั้งติดต่อกันไป จนกระทั่งมียอดและใบมากขึ้นดูสวยงาม และตัดแต่งให้ได้รูปทรงของช่อใบตามต้องการ

การทำช่อหรือพุ่มใบ กิ่งหนึ่งจะแยกกี่ช่อก็ได้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบที่ต้องการ แต่สิ่งที่ควรคำนึงคือ การจัดช่อให้ได้ระยะที่พอเหมาะกับสัดส่วนและสัมพันธ์กัน เช่น การจะทำ 9 ช่อ ก็จัดวาง 2 ชั้น ชั้นละ 4 ช่อ และวางไว้ที่ยอดอีก 1 ช่อ

การดูแลรักษา

การปลูกเลี้ยงไม้ดัดต้องหมั่นตัดแต่งกิ่งและช่อใบให้ได้ทรงสวยงามตามแม่แบบอยู่เสมอ หากตัดแต่งเป็นเวลานานใบจะแก่สีไม่สดใส ต้องรูดเอาใบพุ่มออกให้หมด เพื่อให้แตกใบใหม่ที่สีเขียวสดสวย การรูดใบทิ้งควรทำในช่วงฤดูฝน ซึ่งต้นไม้จะแตกใบใหม่ได้ดีกว่าฤดูอื่นๆ

การรดน้ำและใส่ปุ๋ยให้เป็นไปตามแต่ชนิดพันธุ์ไม้นั้นๆ ส่วนแสงแดดควรให้ได้รับแดดเต็มที่ทุกด้าน เพื่อให้ต้นที่ดัดนั้นมีใบแน่นเสมอกันทุกด้าน ไม่เช่นนั้นแล้วด้านที่ได้รับแสงจะมีใบแน่นสวยงาม ส่วนด้านที่ไม่ได้รับแสงหรืออยู่ในร่มเงามากกว่าจะมีใบโหรงเหรง ดังนั้นจึงควรปลูกไม้ดัดไว้กลางแจ้งและโล่ง ซึ่งนอกจากจะได้รับแสงแดดเต็มที่ทุกด้านแล้ว ยังได้เห็นรูปทรงของไม้ดัดที่ชัดเจนสวยงามอีกด้วย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง