กล้วย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Musa sapientum L.
วงศ์ MUSACEAE
ชื่อสามัญ Banana, Cultivated banana
ชื่ออื่นๆ กล้วยกะลิอ่อง กล้วยมะนิอ่อง กล้วยไข่ กล้วยใต้ กล้วยนาก กล้วยน้ำว้า กล้วยเล็บมือ กล้วยส้ม กล้วยหอม กล้วยหอมจันทน์ กล้วยหักมุก เจก มะลิอ่อง ยาไข่ สะกุย
ถิ่นกำเนิด –
ลักษณะทั่วไป กล้วยเป็นไม้ผล ลำต้นเกิดจากกาบหุ้มซ้อนกันสูงประมาณ 2–5 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยวเกิดกระจายตรงส่วนปลายของลำต้นเวียนสลับซ้ายขวาต่างระนาบกัน ก้านใบยาว แผ่นใบกว้าง เส้นของใบขนานกัน ปลายใบมน มีติ่ง ผิวใบเรียบลื่น ใบมีสีเขียวด้านล่างมีไขนวลหรือแป้งปกคลุม เส้นและขอบใบเรียบ ขนาดและความยาวของใบขึ้นอยู่กับแต่ละพันธุ์ ดอกเป็นดอกห้อยลงมายาวประมาณ 60–130 ซม. เรียกว่าหัวปลี ตามช่อจะมีกาบหุ้มสีแดงเป็นรูปกลมรี ยาว 15–30 ซม. ช่อดอกเมื่อเจริญก็จะกลายเป็นผล ผลจะประกอบกันเป็นหวีกล้วย หวีละประมาณ 10-20 ผล และ 7–8 หวีรวมกันเป็นเครือ ขนาดและสีของกล้วยมีลักษณะแตกต่างกันออกไปตามชนิดของพันธุ์ บางชนิดมีผลสีเขียว, เหลือง, แดง แต่ละต้นให้ผลครั้งเดียวเท่านั้น เมล็ด มีลักษณะกลมขรุขระ เปลือกหุ้มเมล็ดมีสีดำ หนาเหนียว เนื้อในเมล็ดมีสีขาว
การขยายพันธุ์ ขยายพันธุ์ ด้วยการแยกหน่อ หรือแยกเหง้า