ต้นไม้ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ต้นจามจุรี
“จามจุรี” เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย ถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจุฬาฯ มีความผูกพันกับชาวจุฬาฯ มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเป็นมหาวิทยาลัย ด้วยวัฏจักรของจามจุรีมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวจุฬาฯ กล่าวคือ มีสีเขียวชอุ่มให้ความสดชื่นในช่วงเวลาภาคต้นของการศึกษาเสมือนนิสิตปีที่1ที่ยังคงเริงร่าสนุกสนานกับการเป็นน้องใหม่ และเมื่อเวลาผ่านไปในภาคปลายของการศึกษาทั้งใบและฝักย้ำเตือนให้นิสิตเตรียมตัวสอบปลายปีมิฉะนั้นอาจจะต้องเรียนซ้ำชั้นหรือถูกไล่ออก
ชื่อสามัญ
Rain Tree, East Indian Walnut, Monkey Pod
ชื่อวิทยาศาสตร์
Samanea saman (Jacq.) Merr.
วงศ์
LEGUMINOSAE
ชื่ออื่น
ก้ามกราม ก้ามกุ้ง ก้ามปู จามจุรี (ภาคกลาง), ลัง สารสา สำสา (ภาคเหนือ), ตุ๊ดตู่ (ตาก), เส่คุ่ เส่ดู่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะทั่วไป
ต้นจามจุรีเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูง 10–20 เมตร แผ่พุ่มกว้างคล้ายร่ม เป็นแบบขนนกสองชั้นออกสลับ เปลือกต้นสีดำเป็นเกล็ดโตแข็งสีเขียวเข้ม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกคล้ายใบแค ปลายใบมนแกนกลางใบประกอบและก้านใบประกอบแยกแขนงตรงข้ามกัน บนแขนงมีใบย่อยรูปไข่หรือรูปรี หรือคล้ายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ปลายใบมน ขอบใบเรียบ หลังใบเกลี้ยง ออกดอกเป็นรวมเป็นกระจุก สีชมพูอ่อน โคนดอกสีขาว ออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง วงนอกช่อดอกมีขนาดเล็กกว่าดอกวงใน ดอกวงนอกมีก้านสั้น ดอกวงใยไม่มีก้าน ส่วนบนมีขนหนาแน่น ปลายหลอดกลีบดอกแยกเป็น 5 แฉก ออกดอกช่วงเดือนสิงหาคม-กุมภาพันธ์ ผลเป็นฝักแบนยาว ฝักอ่อนสีเขียว ฝักแก่สีน้ำตาล เนื้อในนิ่มสีดำ รสหวาน เมล็ดสีน้ำตาลเข้ม
ขยายพันธุ์
เพาะเมล็ด
สภาพที่เหมาะสม
ดินทุกชนิด เป็นไม้กลางแจ้ง
ถิ่นกำเนิด
อเมริกาใต้เขตร้อน