ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล

มหาวิทยาลัยมหิดล

ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล

ต้นกันภัยมหิดล

ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล ต้นกันภัยมหิดล

เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี แห่งวันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 2 มีนาคม 2542 มหาวิทยาลัยมหิดลมีดำริให้จัดการประกวดพรรณไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยขึ้น เพื่อเป็นสื่อกลางและพรรณไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยมหิดลให้ยั่งยืนตลอดไป เนื่องจากมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีพรรณไม้สัญลักษณ์เป็นทางการ และมักจะมีความเข้าใจผิดว่า ศรีตรัง เป็นพรรณไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องจาก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ปลูกต้นศรีตรังไว้ที่บริเวณหน้าคณะและยังเป็นชื่อเพลงซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายเพลงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล และในที่สุดคณะอนุกรรมการฯ ได้ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกรายชื่อพรรณไม้ไว้ 3 ชนิดเสนอต่อที่ประชุมคณบดีเพื่อพิจารณาตัดสินใจ คือ

  1. กันภัยมหิดล
  2. พญายา
  3. พญาสัตบรรณ

ต่อมาที่ประชุมคณบดีมีมติให้นำความขึ้นกราบทูลต่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อขอประทานพระวินิจฉัย ซึ่งได้ประทานพระวินิจฉัยให้กันภัยมหิดลเป็นพรรณไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล ดังที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้อัญเชิญพระวินิจฉัยไว้ในสูจิบัตรงานสถาปนามหาวิทยาลัยมหิดลครบ 30 ปี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2542 ดังนี้

  1. ชื่อ “กันภัยมหิดล” เป็นชื่อที่ดีและมีความหมายดีไม่เฉพาะเหมือนชื่อของต้นพญายาที่สื่อความหมายเพียงด้านเดียว “กันภัย” เป็นนามมงคล สื่อถึงการป้องกันภยันตรายให้แก่ชาวมหาวิทยาลัยมหิดล “มหิดล” ตั้งชื่อเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และมีนามพ้องกับชื่อของมหาวิทยาลัยมหิดล
  2. ต้นกันภัยมหิดลเป็นต้นไม้ที่มีค่ายิ่ง เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่พบครั้งแรกในโลกที่ จ.กาญจนบุรี และยังไม่พบว่ามีพรรณไม้ชนิดนี้ในประเทศอื่นอีก จึงเป็นสิ่งเดียวในโลกที่มีค่ายิ่ง เป็นต้นไม้ที่มีดอกตลอดทั้งปี และดอกมีลักษณะสวยงาม ผลไม่เป็นพิษเหมือนกับต้นพญาสัตบรรณ หรืออีกชื่อหนึ่งว่า Devil Tree ซึ่งอาจสื่อความหมายในเชิงลบได้ ลักษณะของต้นเป็นไม้เถามี ข้อดีในการหาพื้นที่ปลูกได้ง่ายและดัดแปลงรูปทรงได้ตามต้องการตามภูมิทัศน์ แพร่พันธุ์ได้ง่ายและมีอายุยืน แม้ส่วนบนจะตายก็ยังสามารถงอกใหม่ได้อีก
  3. ถึงแม้มีลักษณะเป็นไม้เถา แต่ถ้านำมาปลูกเป็นพุ่มรวมกัน หาอะไรเป็นหลักให้เกาะให้สูงๆ หรือต้นไม้ใหญ่ให้เกาะเลื้อยออกดอกไปตามต้นไม้ใหญ่ก็จะสวยงาม

ชื่อวิทยาศาสตร์

Afgekia sericea

ชื่อสามัญ

วงศ์

LEGUMINOSAE

ชื่ออื่น

ถั่วแปบช้าง

ลักษณะทั่วไป

ต้นกันภัยมหิดลเป็นพรรณไม้เถาเลื้อย ต้องการหลักยึด ลำต้นเป็นสีน้ำตาล ใบมีสีเขียว ท้องใบจะขาว ลักษณะของใบเหมือนกับรูปรีทาง ปลายใบแหลมเล็กน้อย จะออกตามกิ่งก้านที่แตกออกมาจากลำต้น ดอกจะออกดอกเป็นช่อยาว และแต่ละดอกจะอัดตัวกันแน่นเป็นกระจุก ภายในดอกๆ หนึ่งจะมีสีดอกอยู่ 3 สีคือหลังกลีบบน สีขาวๆ เหลืองๆ กลีบในสองกลีบสีขาว กลีบล่างสองกลีบสีชมพูม่วง ปลีดอกสีม่วง ช่อดอกจะยาวยื่นออกไปประมาณ 30–40 ซม. ดอกบานกว้างประมาณ 3.5 ซม. ถ้าปลูกในดินที่ดีแล้วจะออกดอกดกมาก

ขยายพันธุ์

โดยการเพาะเมล็ด

สภาพที่เหมาะสม

ชอบดินร่วนซุยและปนทราย ความชื้นปานกลาง แสงแดดจัดหรือกลางแจ้ง มีลักษณะพิเศษของพืชชนิดนี้ คือไม่ตายง่าย และไม่พักตัวเหมือนพืชเถาอื่นๆ

ถิ่นกำเนิด

เป็นไม้ที่อยู่ในประเทศไทย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง