ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
ดอกพิกุล
ต้นพิกุลเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของภาคใต้ ภาษามลายูเรียกว่า “ตันหยง” ถือเป็นต้นไม้มงคล ซึ่งชื่อมงคลนี้เป็นชื่อของภูเขา อันเป็นที่ตั้งของพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ มีชื่อว่าภูเขาตันหยง
ดอกพิกุลสีขาวนวลเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ เปรียบประดุจความดี ความงามของบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ กลีบดอกเป็นจักรเปรียบประดุจความแหลมคมของปัญญา กลิ่นหอมกรุ่นเปรียบได้กับความดีงามที่ไม่มีวันจาง แม้เมื่อร่วงจากต้นลงสู่พื้นหรือไปสู่ ณ ที่ใดก็ยังคงความดีงามตลอดกาล
ชื่อสามัญ
Bullet Wood, Spanish Cherry
ชื่อวิทยาศาสตร์
Mimusops elengi Linn.
วงศ์
SAPOTACEAE
ชื่ออื่น
กุน (ภาคใต้), แก้ว (ภาคเหนือ), ซางดง (ลำปาง), พิกุลป่า (สตูล), พิกุลเขา พิกุลเถื่อน (นครศรีธรรมราช), พิกุล (ทั่วไป)
ถิ่นกำเนิด
อินเดีย, พม่า และมาเลเซีย
การขยายพันธุ์
เพาะเมล็ด, ตอนกิ่ง
สภาพที่เหมาะสม
ดินทุกชนิด แสงแดดจัด
ลักษณะทั่วไป
พิกุลเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางสูงประมาณ 8–15 เมตร เป็นพุ่มทรงกลม ใบออกเรียงสลับกัน ใบมนรูปไข่ปลายแหลม ลักษณะโคนใบมนสอบ ขอบใบโค้งเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบเป็นมันสีเขียว ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกดอกเป็นกระจุกตามง่ามใบหรือยอด มีกลีบดอกประมาณ 8 กลีบ เรียงซ้อนกัน กลีบดอกเป็นจักรเล็กน้อย สีขาวนวลมีกลิ่นหอมมาก ผลรูปไข่หรือกลมรีผลแก่มีสีแสด เนื้อในเหลืองรสหวาน ภายในมีเมล็ดเดียว