กล้วยไม้
ไม้ที่ช่วยเสริมความร่ำรวย รุ่งเรือง และให้โชคลาภกับผู้เกิดราศีมีน คือ กล้วยไม้ คนโบราณเชื่อว่า กล้วยไม้ จะทำให้เกิดความประทับใจแก่บุคคลทั่วไป ทำให้คนในบ้านมีจริยธรรม เหมาะกับผู้ปลูกที่มีอุปนิสัยเยือกเย็นอ่อนโยน
ชื่อสามัญ Orchid
ชื่อวิทยาศาสตร์ Orchid
ชื่อวงศ์ ORCHIDACEAE
ชื่ออื่นๆ เอื้อง (ภาคเหนือ)
ถิ่นกำเนิด ลาตินอเมริกา เอเชียแปซิฟิค
ลักษณะทั่วไป กล้วยไม้เป็นพืชวงศ์ใหญ่ มีความแตกต่างกันภายในวงศ์อย่างเห็นได้ชัด โดยทั่วไปลำต้นของกล้วยไม้ไม่มีแก่นและเปลือก เนื้อในเสมอกัน ลำต้นมี 2 ลักษณะ คือ ลำต้นแท้ มีข้อและปล้องเหมือนพืชใบเลี้ยงเดี่ยวทั่วไป มีการเจริญเติบโตทางยอด ลำต้นเทียมหรือลำลูกกล้วยไว้สะสมอาหาร มีลำต้นเป็นเหง้า มีข้อและปล้องถี่ เจริญในแนวนอนไปตามผิวของเครื่องปลูก รากกลมอวบเป็นเส้นเล็กแข็งหรือแบนราบ มีทั้งรากดิน รากกึ่งดิน รากกึ่งอากาศ และรากอากาศ ใบเป็นใบเลี้ยงเดี่ยวมีลักษณะต่างกันออกไป เช่น รูปแถบ รูปกลมยาว หรือลดรูปเป็นเพียงเกล็ด แผ่นใบบางคล้ายใบหมาก หนาอวบน้ำ หรือเป็นแท่งกลม ส่วนมากแล้วไม่มีส่วนที่เป็นก้านใบชัดเจน สีของใบเป็นสีเขียวสด บางชนิดเป็นสีม่วงคล้ำ บางชนิดก็มีลวดลาย ดอกออกที่ปลายลำต้น ซอกใบหรือข้างลำต้น ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อ แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยง 3 กลีบเรียงสลับกันกับกลีบดอก 3 กลีบ กลีบดอกอันล่างมีลักษณะต่างออกไปเรียกว่ากลีบปากหรือกลีบกระเป๋าไว้สำหรับล่อแมลง ก้านเกสรตัวเมียและยอดเกสรตัวเมียเชื่อมติดกันกับเกสรตัวผู้เป็นเส้าเกสรอยู่กลางดอก เกสรตัวผู้อยู่รวมกันเป็นก้อนเป็นกลุ่มเรณู แต่ละอับเรณูมีฝาปิดมี 2, 4 หรือ 8 ก้อนแล้วแต่ชนิดกล้วยไม้ ยอดเกสรตัวเมียอยู่ใต้อับเรณูมีลักษณะเป็นเมือกเหนียว รังไข่อยู่ตรงส่วนของก้านดอก เมื่อได้รับการผสมจะเจริญไปเป็นเมล็ดต่อไป
การปลูกและดูแลรักษา โดยส่วนใหญ่กล้วยไม้เป็นพืชที่ชอบความชุ่มชื้นแต่ไม่แฉะ อุณหภูมิค่อนข้างต่ำ แต่ถ้าอากาศเย็นจัดกล้วยไม้จะพักตัวเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ ควรปลูกให้ได้รับแสง 50-60% เครื่องปลูกแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับระบบราก เช่น กล้วยไม้ที่มีระบบรากดินและกิ่งดินใช้อินทรียวัตถุที่เน่าเปื่อยผุพังและร่วนซุย กล้วยไม้ที่มีระบบรากอากาศและกึ่งอากาศใช้ ถ่าน กาบมะพร้าว หินเกล็ด อิฐหักหรือทรายหยาบ หรืออาจผูกติดกับต้นไม้ใหญ่ให้รากยึดกับต้นไม้ การรดน้ำควรรดน้ำวันละครั้งแต่อย่าให้แฉะ รักษาความชื้นของเครื่องปลูกให้สม่ำเสมอ
การขยายพันธุ์ ขยายพันธุ์โดยการแยกลำ แยกหน่อ ชำต้นและยอด เลี้ยงเนื้อเยื่อ