กะเพรา (Holy Basil)
กะเพราเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีการปลูกทั่วทุกภาคของประเทศไทย กะเพราเป็นเครื่องเทศรสเผ็ดร้อนยอดนิยมที่ใครๆ ก็ชื่นชอบ โดยเฉพาะเมื่อนำมาทำเมนูยอดนิยมอย่างผัดกะเพราหมูสับ นอกจากผัดกะเพราแล้ว กะเพรายังใช้ปรุงอาหารได้อีกหลากหลายประเภท เช่น ใส่ต้มยำ โป๊ะแตก แกงเลียง แกงป่า ต้มโคล้ง ต้มเปรต เพื่อช่วยดับกลิ่นคาวจากเนื้อสัตว์ ทอดกรอบแนมกับทอดมันหรือใส่ในส่วนผสมทอดมัน ใบและต้นกะเพรามีสรรพคุณเป็นยาลมแก้ปวดท้อง ท้องเสีย และคลื่นไส้อาเจียน ในใบมีฤทธิ์ขับน้ำดี ช่วยย่อยไขมันและลดอาการจุกเสียด ป้องกันโรคขาดเลือด ในกะเพราประกอบด้วย เบต้า-แคโรทีน แคลเซียม ธาตุเหล็ก เส้นใยอาหาร และฟอสฟอรัส
ชื่อสามัญ : Holy basil, Sacred Basil
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ocimum tenuiflorum L.
วงศ์ : LAMIACEAE
ชื่ออื่น : กะเพราขน กะเพราขาว กะเพรา (ภาคกลาง) กอมก้อ กอมก้อดง (เชียงใหม่) อีตู่ไทย (ภาคอีสาน)
ถิ่นกำเนิด : ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะทั่วไป : กะเพรามี 3 พันธุ์ คือ กะเพราแดง กะเพราขาวและกะเพราลูกผสมระหว่างกะเพราแดงและกะเพราขาว กะเพราเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นมีลักษณะตั้งตรงเป็นรูปสี่เหลี่ยม โคนต้นแข็ง ยอดเป็นไม้เนื้ออ่อน มีขนปกคลุมโดยทั่ว และมีกลิ่นหอมแรง ใบเป็นใบเดี่ยวและแตกใบตรงข้ามกันในแต่ละข้อของลำต้นและกิ่ง ลักษณะใบเป็นรูปทรงรี ปลายใบแหลม โคนใบมีลักษณะมน ขอบใบเป็นฟันเลื่อยและเป็นคลื่น ยกเว้นบริเวณโคนใบจะเรียบ แผ่นใบบาง มีขนปกคลุมทั้งสองด้าน ใบกะเพราขาวสีเขียวอ่อน ส่วนใบกะเพราแดงสีเขียวแกมม่วงแดง ออกดอกเป็นช่อแบบช่อฉัตรที่ยอดหรือปลายกิ่ง ดอกย่อยสีชมพูแกมม่วง ดอกกะเพราแดงสีเข้มกว่ากะเพราขาว ลักษณะผลเป็นเปลือกแห้งเมล็ดเดียวขนาดเล็ก ส่วนเมล็ดมีลักษณะรูปไข่ขนาดเล็ก สีน้ำตาลมีจุดเข้ม หุ้มด้วยกลีบเลี้ยงของเมล็ด
การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและการปักชำยอด
การปลูก : กะเพราสามารถขึ้นได้ดีในดินทุกชนิด แต่จะชอบดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ดี มีความร่วนซุยและระบายน้ำได้ดี สามารถปลูกได้ในที่มีแดดจัดหรือในที่มีแดดรำไร กะเพราเป็นพืชที่ทนแล้งได้ แต่ถ้าคอยรดน้ำให้ดินชุ่มชื้นสม่ำเสมอกะเพราจะแตกยอดได้ดี ควรเก็บยอดที่ออกดอกไปประกอบอาหารหรือตัดยอดที่มีดอกออก อย่าปล่อยให้กะเพราออกดอกเพราะต้นจะโทรมง่าย ใบจะเล็กลงและหมดอายุเร็ว
สรรพคุณ : ใช้ใบหรือทั้งต้นกะเพราเป็นยาลมแก้ปวดท้อง ท้องเสีย และคลื่นไส้อาเจียน นิยมใช้กะเพราแดงมากกว่ากะเพราขาว ในใบมีฤทธิ์ขับน้ำดี ช่วยย่อยไขมันและลดอาการจุกเสียด ช่วยขับลม บำรุงธาตุ ป้องกันโรคขาดเลือด ขับน้ำนมในสตรีหลังคลอด ในกะเพราประกอบด้วย เบต้า-แคโรทีน แคลเซียม ธาตุเหล็ก เส้นใยอาหาร และฟอสฟอรัส