กานพลู (Clove)

กานพลู (Clove)

กานพลู เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศฟิลิปปินส์ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เป็นเครื่องเทศและยาที่ใช้ในแถบเอเชีย ทั้งจีน อินเดีย ไทย มากว่า 2,000 ปี ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์คือส่วนดอกตูมที่มีฐานดอกใหญ่ การเก็บเกี่ยวกานพลูจะทำเมื่อก้านดอกเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดง ซึ่งถ้ายิ่งแก่จะมีกลิ่นหอมและมีรสชาติเผ็ด กานพลูที่ดีควรแห้งสนิท และมีดอกขนาดใหญ่ กานพลูที่บานแล้วจะมีสรรพคุณทางยาต่ำกว่าดอกตูม และกานพลูที่ผ่านการสกัดเอาน้ำมันออกแล้ว ก็จะมีสรรพคุณทางยาต่ำลงเช่นกัน กานพลูเป็นเครื่องเทศที่นำไปใช้มากในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ซุปและซอสต่างๆ เช่น แกงมัสมั่น แกงกะหรี่ ข้าวหมกไก่ สตูว์ เนื้อตุ๋น กานพลูมีกลิ่นหอมฉุน และมีคุณสมบัติในการช่วยทำให้รสกลมกล่อมขึ้น นอกจากนั้นกานพลูยังสามารถช่วยถนอมอาหาร ป้องกันการหืน และยังมีฤทธิ์ไล่แมลงอีกด้วย

กานพลู (Clove) พืชเครื่องเทศ
ชื่อสามัญ : Clove
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Syzygium aromaticum (L.) Merr.& L.M.Perry
วงศ์ : MYRTACEAE
ชื่ออื่น : จันจี่ (ภาคเหนือ)
ลักษณะทั่วไป : กานพลูเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ มีลำต้นสูง 5-20 เมตร ลำต้นตั้งตรง เปลือกเรียบและมีสีน้ำตาลอ่อน ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปวงรีหรือรูปใบหอก กว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร ยาว 6-12 เซนติเมตร ก้านใบเล็กเรียวยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร ขอบเป็นคลื่น ใบอ่อนสีแดงหรือน้ำตาลแดง เนื้อใบบางค่อนข้างเหนียว ผิวมัน ดอกออกเป็นช่อที่ซอกใบบริเวณยอด ดอกแตกแขนงเป็นกระจุก จำนวน 6-20 ดอกต่อช่อ เป็นดอกกลีบเลี้ยง 4 กลีบ สีเขียวอมเหลือง ออกแดงเล็กน้อยบริเวณโคนดอก ดอกมีรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร มีต่อมน้ำมันมาก กลีบดอกมักร่วงง่าย ด้านในมีเกสรเพศผู้ ก้านชูเกสรยาวประมาณ 3-7 มิลลิเมตร ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร ยอดเกสรตัวเมียแบ่งเป็น 2 พู มีรังไข่ 2-3 ห้อง ผลเป็นผลเดี่ยวรูปไข่ มี 1 เมล็ด ยาว 2-2.5 เซนติเมตร มีสีแดงเข้มออกคล้ำเมื่อแก่
การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง แต่นิยมการเพาะเมล็ดมากกว่าเพราะจะทำให้ต้นมีรากแข็งแรง
การปลูก : กานพลูควรปลูกในดินที่อุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดีไม่ขังแฉะ ปลูกในฤดูฝน ปลูกเหมือนต้นไม้ยืนต้นโดยทั่วไปคือขุดหลุมใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุม นำต้นกล้าลงปลูกแล้วกลบ พูนดินที่โคนต้นเพื่อป้องกันน้ำขัง เมื่อปลูกใหม่ๆ ต้องทำร่มให้ด้วย กานพลูจะให้ผลเมื่ออายุประมาณ 4 ปี และจะให้ผลผลิตสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออายุประมาณ 20 ปี
สรรพคุณ : ใช้ดอกตูมแห้งแก้ปวดฟัน โดยใช้ดอกแช่เหล้าเอาสำลีชุบอุดรูฟัน และใช้ขนาด 5-8 ดอก ชงน้ำเดือด ดื่มเฉพาะส่วนน้ำหรือใช้เคี้ยวแก้ท้องเสีย ขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ นอกจากนี้ใช้ผสมในยาอมบ้วนปากดับกลิ่นปาก พบว่าในน้ำมันหอมระเหยที่กลั่นจากดอกมีสาร eugenol ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ จึงใช้แก้ปวดฟัน มีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ ทำให้เกิดอาการปวดท้องลดลง ช่วยขับน้ำดี ลดอาการจุกเสียดที่เกิดจากการย่อยไม่สมบูรณ์ และสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดเช่น เชื้อโรคไทฟอยด์ บิดชนิดไม่มีตัว เชื้อหนองเป็นต้น นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้มีการหลั่งเมือก และลดการเป็นกรดในกระเพาะอาหารด้วย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง