ต้นไทรนิโครธ พรรณไม้ในพุทธประวัติ
ต้นไทรนิโครธหรือเรียกตามภาษาสันสกฤตว่า บันฮัน และตามภาษาฮินดูว่า บาร์คาด ตามพุทธประวัติกล่าวถึงต้นไทรนิโครธว่า นางสุชาดา ธิดาของพ่อค้าใหญ่ในหมู่บ้านเสนานิคม แห่งตำบลอุรุเวลาเสนานิคม นำข้าวมธุปายาสใส่ถาดทองคำมาถวายรุกขเทวดาเพื่อแก้บน เมื่อเห็นพระสิทธัตถะประทับอยู่ใต้ต้นไทรนิโครธมีพระวรกายผ่องใส ก็นึกว่าเป็นรุกขเทวดา จึงนำข้าวมธุปายาสเข้าไปถวายแล้วนำบริวารกลับไป พระสิทธัตถะ ทรงเสวยข้าวมธุปายาสจนหมด แล้วทรงถือถาดทองคำเสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงอธิษฐานเสี่ยงพระบารมีว่าจะได้ตรัสรู้หรือไม่ แล้วทรงลอยถาดทองลงในแม่น้ำ
อีกตอนหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้วทรงประทับเสวยวิมุติสุข ณ สถานที่ต่างๆ เป็นเวลา ๗ สัปดาห์ และในสัปดาห์ที่ ๕ ทรงเสด็จไปประทับยังควงไม้อชปาลนิโครธ (ต้นไทรนิโครธ) ที่ใต้ต้นไทรนี้ธิดาของพญามารวัสวดี อันได้แก่ นางราคะ นางตัณหา และนางอรดี อาสาผู้เป็นบิดาเพื่อมาทำลายตบะของพระพุทธเจ้า แต่แล้วธิดาทั้ง ๓ ของพญามารวัสวดีก็ต้องพ่ายแพ้ไป
ชื่อพื้นเมือง: กร่าง (ภาคกลาง)
ชื่อบาลี: นิโครธ (นิ-โค-ระ-ธะ), อชปาล-นิโครธ (อะ-ชะ-ปา-ละ-นิ-โค-ระ-ธะ), นิโครโธ (นิ-โค-ระ-โธ)
ชื่อสันสกฤต: บันฮัน
ชื่อวิทยาศาสตร์: Ficus bengalensis Linn.
ชื่อสามัญ: Banyan Tree, Bar, East Indian Fig
ชื่อวงศ์: MORACEAE
ถิ่นกำเนิด: แถบเอเชียเขตร้อนได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา และปากีสถาน
สภาพนิเวศน์: ขึ้นกระจายพันธุ์ทั่วไปในแถบเอเชียเขตร้อนและแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจขึ้นเป็นกลุ่มๆ หรือกระจายห่างๆ ตามพื้นที่ที่ค่อนข้างชุ่มชื้น สามารถขึ้นได้ดีในดินทุกชนิด และสามารถอยู่ได้ในที่น้ำท่วมชั่วคราวได้
ลักษณะทั่วไป: ต้นไทรนิโครธ เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ลำต้นเป็นพูพอนมาก มีกิ่งก้านสาขามากเช่นเดียวกับต้นโพธิ์ ปลายกิ่งห้อยลู่ลง ใบดกหนาทึบเป็นพุ่มกลมแน่นทึบ ทุกส่วนมียางสีขาว ตามลำต้นและกิ่งมีรากอากาศห้อยย้อยลงมามากมาย รากอากาศนี้เมื่อหยั่งถึงดินแล้วจะเจริญเติบโตเป็นลำต้นได้ ทำให้เกิดเป็นหลืบสลับซับซ้อน เป็นฉาก เป็นห้อง กำบังลมฝนได้อย่างดี ตามกิ่งอ่อนมีขนนุ่มๆ หนาแน่น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนกันเป็นกลุ่มตามปลายๆ กิ่ง ใบอ่อนมีขนหนามากโดยเฉพาะด้านท้องใบ แต่พอใบแก่ขนจะหลุดร่วงไปหมด เมื่อทิ้งใบจะปรากฏรอยแผลใบเด่นชัดบนกิ่ง ใบรูปไข่ กว้างประมาณ 10-14 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ปลายใบมน โคนใบโค้งกว้างๆ หรือหยักเว้าเข้าเล็กน้อย เนื้อใบหนา มีแขนงใบ 4-6 คู่ ก้านใบอวบ ยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อมีจำนวนมาก ออกตามซอกใบบริเวณปลายกิ่ง ดอกสีนวล เป็นดอกแยกเพศ แต่ละดอกมีขนาดเล็ก ผลเป็นผลรวมออกติดแนบกับกิ่ง ผลกลมเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร แต่ละผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ 2-4 กลีบ เมื่อผลแก่จะมีสีแดงคล้ำๆ หรือสีเลือดหมู
การขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ปักชำ ตอนกิ่ง
ประโยชน์: เปลือกต้นใช้แก้อาการท้องเดิน เมล็ดใช้เป็นยาเย็นและยาบำรุง ผลใช้รับประทาน
พรรณไม้ในพุทธประวัติ
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงและรูปภาพจากเว็บไซต์
- ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=39613
- ลานพุทธศาสนา http://www.larnbuddhism.com/puttaprawat/
- มูลนิธิอุทยานธรรม https://uttayarndham.org
- ประตูสู่ธรรม http://www.dharma-gateway.com/buddha/buddha-history/buddha-history-index-page.htm
- กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช https://www.dnp.go.th