ทรงพระสุบิน ๕ ข้อ

ทรงพระสุบิน ๕ ข้อ

ทรงพระสุบิน ๕ ข้อ พรรณไม้ในพุทธประวัติ ต้นไม้ในพุทธประวัติ

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงเลิกละทุกกรกิริยาแล้ว ก็ทรงเริ่มเสวยพระอาหารข้น บำรุงร่างกายให้กลับมีกำลังขึ้นได้เป็นปกติอย่างเดิมแล้ว ก็ทรงเริ่มทำความเพียรทางจิตต่อไป จนถึงราตรีวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ เวลาบรรทมหลับ ทรงพระสุบิน ๕ ประการ คือ

๑. ทรงพระสุบินว่า พระองค์ทรงผทมหงายเหนือพื้นปฐพี พระเศียรหนุนเขาหิมพานต์เป็นพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายหยั่งลงในมหาสมุทรทิศตะวันออก พระหัตถ์ขวาและพระบาททั้งคู่ก็หยั่งลงในมหาสมุทรทิศใต้

๒. ทรงพระสุบินว่า หญ้าแพรกต้นหนึ่งงอกจากพระนาภี (สะดือ) สูงขึ้นไปจนถึงท้องฟ้า

๓. ทรงพระสุบินว่า หมู่หนอนทั้งหลาย สีขาวบ้าง ดำบ้าง เป็นอันมาก ไต่ขึ้นมาแต่พื้นพระบาททั้งคู่ ปกปิดลำพระชงฆ์ (หน้าแข้ง) หมด และไต่ขึ้นมาถึงพระชานุมณฑล

๔. ทรงพระสุบินว่า ฝูงนก ๔ จำพวก มีสีต่าง ๆ กัน คือ สีเหลือง เขียว แดง ดำ บินมาแต่ทิศทั้ง ๔ ลงมาจับแท่นพระบาท แล้วกลับกลายเป็นสีขาวไปสิ้น

๕. ทรงพระสุบินว่า เสด็จขึ้นไปเดินจงกลมบนยอดภูเขาอันเต็มไปด้วยอาจม แต่อาจมนั้นมิได้ทรงเปื้อนพระยุคลบาท

ในพระสุบินทั้ง ๕ ข้อนั้น มีอธิบายว่า

ข้อ ๑. เจ้าชายสิทธัตถะจะได้ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เลิศในโลกทั้ง ๓

ข้อ ๒. เจ้าชายสิทธัตถะจะได้ทรงประกาศสัจธรรม เผยมรรค ผล นิพพาน แก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งมวล

ข้อ ๓. คฤหัสถ์ พราหมณ์ทั้งหลาย จะเข้ามาสู่สำนักของพระองค์เป็นอันมาก

ข้อ ๔. ชาวโลกทั้งหลาย คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทย์ เมื่อมาสู่สำนักของพระองค์แล้ว จะรู้ทั่วถึงธรรมอันบริสุทธิ์หมดจดผ่องใสไปสิ้น

ข้อ ๕. ถึงแม้พระองค์จะพร้อมมูลด้วยสักการะวรามิศ ที่ชาวโลกทุกทิศน้อมถวายด้วยความเลื่อมใส ก็มิได้มีพระทัยข้องอยู่ให้เป็นมลทินแม้แต่น้อย


พรรณไม้ในพุทธประวัติ

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงและรูปภาพจากเว็บไซต์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง