หญ้ากุศะ พรรณไม้ในพุทธประวัติ
หญ้ากุศะ เป็นหญ้าที่มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนามาก โดยถือกันว่าเป็นหญ้าศักดิ์สิทธิ์ ในพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพระสิทธัตถะจะทรงตรัสรู้ โสถิยะพราหมณ์ได้น้อมถวายหญ้ากุศะ ๘ กำแก่พระสิทธัตถะ ทรงรับหญ้ากุศะแล้วทรงนำมาปูลาดต่างบัลลังก์รองนั่ง ภายใต้ควงศรีมหาโพธิ และในวันรุ่งขึ้นพระองค์ก็ได้ตรัสรู้สำเร็จพระโพธิญาณ หญ้านี้จึงเป็นหญ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง ชาวพุทธถือว่าหญ้ากุศะนี้มีความสำคัญอย่างมาก และจัดให้เป็นไม้สำคัญชนิดหนึ่งของพุทธประวัติอีกด้วย
ชื่อพื้นเมือง: กุศะ (ไทย)
ชื่อบาลี: กสะ (กะ-สะ), กุส (กุ-สะ), กุโส (กุ-โส), พริหิส (พะ-ริ-หิ-สะ), ทพฺภ (ทับ-พะ)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Desmostachy bipinnata Stapf
ชื่อสามัญ: Kush, Kusha grass, Halfa grass, Big cordgrass, Salt reed-grass
ชื่อวงศ์: POACEAE
ถิ่นกำเนิด: เนปาลและอินเดีย
สภาพนิเวศน์: หญ้ากุศะมักขึ้นในพื้นที่แห้งแล้ง ตามที่รกร้าง ที่โล่งทั่วไป และขึ้นตามริมฝั่งของแม่น้ำ มักขึ้นเป็นกอๆ เหง้ามีขนาดใหญ่และอวบ
ลักษณะทั่วไป: หญ้ากุศะ เป็นพืชในวงศ์เดียวกับไม้ไผ่และหญ้าอื่นๆ คืออยู่ในวงศ์ POACEAC เป็นหญ้าที่ชอบขึ้นในที่แห้งแล้ง และขึ้นตามริมฝั่งแม่น้ำ ขึ้นเป็นกอ มีเหง้าใหญ่อวบ ใบมีลักษณะเป็นรูปยาวแหลมเหมือนหอก ขอบใบแหลมคม ออกดอกเป็นช่อ ลักษณะเป็นรูปพีระมิดหรือมีลักษณะเป็นแท่งตั้งตรง มีความแข็ง และมีสีน้ำตาลอ่อน ออกดอกตลอดในช่วงฤดูฝน
การขยายพันธุ์: ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการแยกกอ
ประโยชน์: ทั้งต้นใช้เป็นยาฝาดสมาน ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ รากมีรสหวานเป็นยาเย็น แก้อาการกระหายน้ำ หญ้ากุศะถือเป็นหญ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา เป็นเครื่องบูชาและเครื่องสะเดาะเคราะห์ ใช้ในงานมงคลและพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ
พรรณไม้ในพุทธประวัติ
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงและรูปภาพจากเว็บไซต์
- ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=39613
- ลานพุทธศาสนา http://www.larnbuddhism.com/puttaprawat/
- มูลนิธิอุทยานธรรม https://uttayarndham.org
- ประตูสู่ธรรม http://www.dharma-gateway.com/buddha/buddha-history/buddha-history-index-page.htm
- กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช https://www.dnp.go.th