อุปกาชีวกกับพระอนันตชินะ
ในสัปดาห์ที่ ๘ นับแต่ได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ได้ทรงปรารภถึงอาฬารดาบส และอุทกดาบส ที่พระองค์ได้เคยอยู่อาศัยศึกษาลัทธิของท่านในกาลก่อน ว่าท่านทั้งสองนี้มีปัญญา ทั้งมีกิเลสเบาบาง สามารถจะรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน แต่ท่านทั้งสองได้สิ้นชีพเสียแล้วก่อนหน้า ๗ ราตรี ภายหลังทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ว่า เป็นผู้มีอุปนิสสัยในอันจะตรัสรู้ธรรม ทั้งมีอุปการะแก่พระองค์มาก ได้เป็นอุปฐากของพระองค์เมื่อครั้งทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา ครั้นทรงกำหนดแน่ในพระทัยว่า จะแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ก่อน ดังนั้น ครั้นเวลาเช้าแห่งวันจาตุททสี ดิถีขึ้น ๑๔ ค่ำ แห่งอาสาฬหมาส เดือน ๘ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว ก็เสด็จดำเนินเพื่อไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งอยู่ในเขตแดนเมืองพาราณสี พวกปัญจวัคคีย์ที่เคยตามเสด็จออกบวชและอยู่เฝ้าอุปัฏฐากได้พากันผละหนีพระพุทธเจ้ามาอยู่ที่นี่
ระหว่างทาง เมื่อเสด็จถึงแม่น้ำคยาอันเป็นที่สุดเขตตำบลของสถานที่ตรัสรู้ พระพุทธเจ้าได้ทรงพบอาชีวกผู้หนึ่งนามว่า “อุปกะ” เดินสวนทางมา ฝ่ายอุปกะได้เห็นพระรัศมีของพระผู้มีพระภาคงดงามผ่องใส อย่างที่ไม่เคยเห็นมาแต่ก่อน พระรัศมีนั้นเรียกว่า “ฉัพพรรณรังสี” คือ พระรัศมี ๖ ประการที่ซ่านออกจากพระวรกายของพระพุทธเจ้า ได้แก่
๑. นีละ สีเขียวเหมือนดอกอัญชัน
๒. ปีตะ สีเหลืองเหมือนหรดาลทอง
๓. โลหิตะ สีแดงเหมือนแสงตะวันอ่อน
๔. โอทาตะ สีขาวเหมือนแผ่นเงิน
๕. มัญเชฐะ สีแสดเหมือนดอกหงอนไก่
๖. ประภัสสระ สีเลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก
อุปกาชีวก ก็ประหลาดใจ คิดไปว่า คนผู้นี้ไฉนหนอจึงมีรัศมีโอภาสงามผุดผ่อง เป็นสง่าน่าเคารพยิ่งนัก จึงเข้าไปใกล้แล้วปราศัยด้วยคารวะเป็นอันดีว่า ข้าแต่สมณะ อินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชเฉพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน ท่านชอบใจธรรมของใคร ท่านเป็นอนันตะชินะ (พระอรหันต์ผู้ชนะไม่มีที่สิ้นสุด) ฉะนั้นหรือ
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “ดูกร อุปกะ ตถาคตเป็นสยัมภู ตรัสรู้เองด้วยปัญญายิ่ง ไม่มีใครเป็นครูอาจารย์สั่งสอน เป็นสัพพัญญู ตรัสรู้ธรรมทั้งมวล ไม่มีสิ่งใดที่ควรจะรู้ ซึ่งตถาคตไม่รู้ อุปกะ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ตถาคตแสดงว่าใครเป็นครูสั่งสอนเล่า”
อุปกาชีวกไม่เชื่อด้วยไม่มีญาณที่จะหยั่งเห็นตาม ทั้งไม่มีความรู้ที่จะซักถามถึงเหตุอื่นอีก ได้สั่นศีรษะและแลบลิ้น แล้วเดินหลีกพระพุทธเจ้าไป ต่อนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จโดยทางนั้นต่อไป พอเพลาสายัณห์ก็บรรลุถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
พรรณไม้ในพุทธประวัติ
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงและรูปภาพจากเว็บไซต์
- ลานธรรมจักร http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=39613
- ลานพุทธศาสนา http://www.larnbuddhism.com/puttaprawat/
- มูลนิธิอุทยานธรรม https://uttayarndham.org
- ประตูสู่ธรรม http://www.dharma-gateway.com/buddha/buddha-history/buddha-history-index-page.htm
- กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช https://www.dnp.go.th